"มะเร็งลำไส้ใหญ่" รักษาหายได้ หากรู้เร็ว

"มะเร็งลำไส้ใหญ่" รักษาหายได้ หากรู้เร็ว

"มะเร็งลำไส้ใหญ่" รักษาหายได้ หากรู้เร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นการตรวจหาระยะก่อนมะเร็งและหาเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ หากพบความผิดปกติสามารถให้การรักษาได้ทันที เพิ่มโอกาสหายขาดและลดอัตราการเสียชีวิต

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในประเทศไทย โดยผู้ป่วยมักจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจายของโรคแล้ว ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้น การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงการเสียชีวิต และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น

พญ.วินิตา โอฬารลาภ  พญ. วินิตา โอฬารลาภ แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ที่มีการเปลี่ยนแปลงและแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นก้อนหรือเนื้องอก ซึ่งในระยะแรกอาจเป็นเพียงแค่ติ่งเนื้องอกเล็กๆ หรือที่เรียกว่า Polyp แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาหรือตัดทิ้ง อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ที่สามารถทวีความรุนแรงจนลุกลามทะลุผนังลำไส้หรือแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

ปัจจัยกระตุ้นให้ติ่งเนื้อ (Polyp) กลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
  • การดื่มเหล้า
  • การสูบบุหรี่
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานเนื้อแดงเป็นประจำและปริมาณมาก รับประทานผักผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย และขาดการออกกำลังกาย

อาการของโรคมะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่อาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ จนกว่าจะถึงระยะแพร่กระจายของโรค ซึ่งมักพบอาการ ดังนี้

  • ท้องผูกสลับท้องเสียอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ท้องเสียเรื้อรัง 
  • ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือสีดำแดง อุจจาระเป็นเลือดสดหรือมีเลือดปน  
  • อุจจาระมีขนาดเล็กลง
  • รู้สึกถ่ายไม่สุด ปวดหน่วงทวารหนัก
  • อ่อนเพลีย อ่อนแรงจากภาวะโลหิตจาง หรือจากการขาดธาตุเหล็ก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • ปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หรือคลำเจอก้อนบริเวณหน้าท้อง    

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นการตรวจหาระยะก่อนมะเร็งและหาเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ หากพบความผิดปกติสามารถให้การรักษาได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น  เพิ่มโอกาสหายขาดและลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงปานกลางนั้นควรได้รับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ

กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง

  • มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีติ่งเนื้อ ถือว่ามีความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม   
  • มีโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

กลุ่มผู้มีความเสี่ยงปานกลาง

  • อายุ 45-50 ปี หรือ 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่มีอาการผิดปกติ 
  • มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า / แอลกอฮอล์  สูบบุหรี่จำนวนมากติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • มีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รับประทานเนื้อแดงปริมาณมาก ไม่รับประทานผักผลไม้ และออกกำลังกายน้อย

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำได้หลายวิธี จำแนกตามกลุ่มเสี่ยงได้ ดังนี้

  1. กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้ และหากพบติ่งเนื้อขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป ก็สามารถตัดติ่งเนื้อได้ทันทีในขณะส่องกล้อง ซึ่งมีข้อมูลน่าสนใจว่า กว่า 90% ของการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเริ่มจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งติ่งเนื้อชนิด adenoma ถือว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง  (pre-cancerous lesion) และมีโอกาสดำเนินโรคในอนาคตได้ โดยใช้เวลา 5-10 ปี ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง
  2. กลุ่มผู้มีความเสี่ยงปานกลาง สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ การสวนแป้งเอกซเรย์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ หรือสามารถเลือกวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน 

 

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การผ่าตัด (Surgery)  สามารถทำได้ในทุกระยะของโรค ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาการรักษาควบคู่ไปกับการฉายรังสีและยาเคมีบำบัด
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) การรับประทานหรือฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าทางกระแสเลือด เพื่อออกฤทธิ์หยุดยั้งการแบ่งตัวหรือทำลายเซลล์มะเร็ง สามารถใช้ก่อนการผ่าตัดและ/หรือหลังผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้  ยาเคมีบำบัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงกับเซลล์ปกติและการทำงานของอวัยวะอื่นๆ เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และผมร่วง 
  • การฉายรังสีรักษา (Radiation therapy) ด้วยคลื่นที่มีพลังงานสูง เพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมถึงยังช่วยลดอัตราการกลับเป็นซํ้า สามารถทำควบคู่ไปกับการให้เคมีบำบัด เพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น
  • ยาเฉพาะเจาะจง (Targeted Therapy)  เป็นการรักษาที่ตรงจุดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งแบบไม่ทำลายเซลล์ข้างเคียงและมีผลข้างเคียงน้อย ส่วนใหญ่มักทำการรักษาร่วมกับการให้เคมีบำบัด โดยเลือกใช้ในกลุ่มที่มีการกระจายของมะเร็ง จากการศึกษาพบว่าการรักษาด้วยยาเฉพาะเจาะจงสามารถยืดระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่ และช่วยให้มีระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรคนานกว่าการให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว
  • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตรวจจับและฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในกลุ่มที่มีการกระจายของมะเร็ง และต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ    

การตรวจคัดกรองหลังการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หายแล้ว

ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จนหายแล้ว มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก ทั้งตรงจุดเดิมของโรคและบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยในช่วง 2 ปีแรก แพทย์อาจนัดติดตามอาการทุก 3-6 เดือน ซึ่งจะมีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุก 6 เดือน และอาจมีการทำเอกซเรย์ช่องท้อง ทุก 3-6 เดือนด้วยเช่นกัน หลังจาก 2 ปีไปแล้ว หากตรวจไม่พบการเกิดขึ้นใหม่ของมะเร็ง อาจทิ้งระยะตรวจนานขึ้นเป็นการตรวจทุกๆ 1 ปี จนครบ 3 ปี

นอกจากการเข้าพบแพทย์ตามนัดและการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่องแล้ว ควรลดปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการจำกัดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มการบริโภคผักผลไม้และอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด ไลฟ์สไตล์เหล่านี้สามารถช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook