6 ความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่าไม่ต้องตรวจ “มะเร็งเต้านม” ก็ได้

6 ความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่าไม่ต้องตรวจ “มะเร็งเต้านม” ก็ได้

6 ความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่าไม่ต้องตรวจ “มะเร็งเต้านม” ก็ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • 75% ของการเป็นมะเร็งเต้านมนั้นเกิดในผู้หญิงที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่เนิ่นๆ อย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการตรวจเต้านม ไม่ได้เป็นเพียงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเท่านั้น หากมีเนื้องอกหรือถุงน้ำที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่มะเร็ง ก็สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

  • การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกนั้นจะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยเพิ่มไปอีก 5 ปีได้ถึง 98% ในทางตรงกันข้าม หากตรวจพบได้ช้า หรือปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1-2 ปี

รศ.นพ. วิชัย วาสนสิริ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยาและมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า มะเร็งเต้านม (Breast cancer) ถือเป็นภัยร้ายและภัยเงียบใกล้ตัวสำหรับผู้หญิง เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 เช่นกัน โดยมีผู้หญิงไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึงปีละเกือบ 3,000 คน ป่วยมากกว่า 34,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งเต้านมมักไม่ปรากฏอาการเจ็บปวดใดๆ ให้เห็นหรือเตือนให้ทราบล่วงหน้า เมื่อตรวจพบอาการอาจจะรุนแรงจนทำให้การรักษานั้นทำได้ยากและมีความซับซ้อนมากขึ้น และยังมีคนจำนวนหนึ่งที่มักมีข้ออ้างให้กับตัวเองในการหลีกเลี่ยงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอยู่ตลอด

  1. ไม่มีประวัติ เท่ากับ ไม่มีความเสี่ยง

ข้อนี้ก็เป็นข้ออ้างที่คนมักจะนึกถึงอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว 70% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่บอกได้ชัดเจน อีกทั้ง 75% ของการเป็นมะเร็งเต้านมนั้นเกิดในผู้หญิงที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือแม้กระทั่งในผู้ชาย ก็ยังสามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ โดยที่ไม่ต้องมีประวัติครอบครัวเช่นกันหากผู้ชายเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีอายุมาก ตับแข็ง หรือผู้ชายที่มีลักษณะเต้านมเหมือนผู้หญิง

  1. หน้าอกมีขนาดเล็ก ไม่เป็นมะเร็งเต้านมหรอก

ขนาดของหน้าอกนั้นไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม และการที่มีขนาดหน้าอกเล็กก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยในการเป็นมะเร็งเต้านม ขณะเดียวกัน การที่มีขนาดหน้าอกใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ในความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับว่า หน้าอกประกอบไปด้วยส่วนประกอบใดเป็นส่วนหลัก

หน้าอกของคนเราประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก คือ ส่วนของเนื้อเยื่อต่อมน้ำนม ซึ่งสามารถเกิดเป็นมะเร็งได้ และส่วนที่สอง คือ เนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งจะไม่เกิดเป็นมะเร็ง ผู้หญิงที่มีหน้าอกเล็กมักจะมีส่วนของเนื้อเยื่อไขมันน้อย แต่ส่วนเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมนั้นยังมีปริมาณปกติ จึงมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยทั่วๆ ไป

ส่วนผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่นั้นต้องพิจารณาก่อนว่าใหญ่จากสาเหตุอะไร หากหน้าอกใหญ่เพราะมีเนื้อเยื่อไขมันมาก แต่ยังมีเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมเท่าเดิม โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันนั้นไม่สามารถเกิดเป็นมะเร็งได้อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น

แต่ในกรณีที่หน้าอกใหญ่เพราะอัดแน่นไปด้วยเนื้อเยื่อต่อมน้ำนม หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Dense Breast Tissue โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมก็จะเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์เฉลี่ย โดยหากมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมมากกว่า 75% จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 4-6 เท่า ทั้งนี้ การทำแมมโมแกรมจะสามารถตอบคำถามได้ว่าเรามีภาวะ Dense Breast Tissue ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่

  1. กลัวเจ็บ เลยไม่อยากตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

คนยังมีภาพจำของการตรวจแมมโมแกรมแบบเดิมๆ อยู่ ในเรื่องที่ว่าการตรวจด้วยแมมโมแกรมนั้น ทำให้ผู้ถูกตรวจรู้สึกเจ็บเป็นอย่างมากจากการบีบและกดทับของเครื่องแมมโมแกรม แต่ในปัจจุบัน นวัตกรรมเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมรุ่นใหม่ๆ ช่วยลดการกดทับเต้านมที่รุนแรงได้ จึงไม่ทำให้ผู้ถูกตรวจรู้สึกเจ็บเต้านมมากเหมือนในอดีต อีกทั้งบริเวณเต้านมนั้นไม่มีต่อมน้ำเหลืองที่จะได้รับผลกระทบทางลบจากการกดทับของเครื่องแมมโมแกรม จึงสามารถบอกได้ว่า การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมนั้นคุ้มค่า และมีข้อดีมากกว่าข้อเสียอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวนั้นจะให้ความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 80% ซึ่งอาจทำให้ตรวจไม่พบก้อนเนื้อขนาดเล็กๆ แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยการทำอัลตราซาวด์ควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจขึ้นเป็น 85-90% และหากทำทั้ง 2 อย่างนี้ควบคู่ไปกับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งเต้านม ความแม่นยำจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 99%

  1. กังวลเรื่องรังสีจากการตรวจเต้านม จะทำให้เป็นมะเร็ง

หลายคนค่อนข้างมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ด้วยว่ารังสีจากการทำแมมโมแกรมนั้นจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม แท้จริงแล้วปริมาณรังสีจากการทำแมมโมแกรมนั้นน้อยมาก เทียบเท่ากับการเอกซเรย์ปอดประมาณ 3-4 ครั้ง อีกทั้งต้องทำแมมโมแกรมถึง 100 ครั้ง ร่างกายจึงจะได้รับปริมาณรังสีอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น จึงสามารถบอกได้ว่า การทำแมมโมแกรมไม่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

  1. กลัวตัวเองจะเป็นทุกข์ หากตรวจพบความผิดปกติในเต้านม

ความกังวลและความกลัวเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องบอกก่อนว่า กว่า 80% ของก้อนเนื้อที่พบในเต้านมของผู้หญิง มักเป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรงและไม่เป็นอันตราย เช่น เป็นซีสต์ หรือเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง

ความจริงที่น่าสนใจ คือ หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมได้เร็วตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม โอกาสรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมีการศึกษาพบว่า การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกนั้นจะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยเพิ่มไปอีก 5 ปีได้ถึง 98%

ในทางตรงกันข้าม หากตรวจพบได้ช้า ตัวโรคนั้นก็ไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในทันที แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1-2 ปี แต่จะเป็น 1-2 ปีที่ทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตแย่ที่สุดก่อนจะเสียชีวิต ดังนั้น การตรวจคัดกรองให้พบโดยเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร่งด่วน แล้วกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมมากกว่า

  1. คลำไม่เจอก้อนอะไร ไม่จำเป็นต้องตรวจมะเร็งเต้านมก็ได้

อันที่จริงแล้วเราไม่ควรรีรอให้มีอาการต่างๆ แสดงออกมาแล้วจึงไปตรวจเต้านม เพราะความเป็นจริงคือ มะเร็งเต้านมในระยะแรกนั้นมักจะไม่แสดงอาการใดๆ คลำไม่พบก้อน แต่ถ้าหากว่าคลำแล้วพบก้อน และตรวจแล้วพบว่าเป็นมะเร็งจริง แสดงว่าเป็นมะเร็งที่กินระยะเวลามาประมาณ 2-3 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น อย่าชะล่าใจว่าการไม่มีก้อนที่หน้าอกนั้นคงไม่เป็นไร แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเป็นประจำเมื่อถึงเกณฑ์จะดีที่สุด เพราะหากตรวจพบได้เร็ว โอกาสหายขาดย่อมมีสูง

จะเห็นได้ว่า มีเหตุผลหรือข้ออ้างมากมายที่ให้เราอ้างกับตัวเองได้ว่า การตรวจเต้านมนั้นไม่มีความจำเป็นต้องทำ ไม่ต้องตรวจก็ได้ หากไม่มีประวัติ ไม่มีความเสี่ยง หรือไม่มีอาการ ทั้งนี้ แนะนำว่าทางที่ดีที่สุดในการดูแลตัวเองและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม คือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอตามกำหนด โดยแนะนำว่าหญิงไทยเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ควบคู่กันปีละ 1 ครั้ง และเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ให้ทำทุก 1-2 ปี

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook