8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “ไบโพลาร์”

8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “ไบโพลาร์”

8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “ไบโพลาร์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสังคมไทยสามารถพบผู้ป่วยทางจิตได้มากขึ้น เนื่องจากความเครียดสะสม รวมไปถึงกรรมพันธุ์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของโรคทางจิตหลายๆ โรค แต่สำหรับ "ไบโพลาร์" อาจยังมีหลายคนที่เข้าใจอาการของโรคนี้ผิดไปจากความเป็นจริงอยู่บ้าง Sanook Health จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ และอาการที่สังเกตได้คร่าวๆ ด้วยตัวเองมาฝากกัน

โรคอารมณ์แปรปรวน (bipolar disorder) คืออะไร

โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

อาการที่อาจพบได้ในผู้ป่วยไบโพลาร์

ข้อมูลจาก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ จะมีช่วงที่อารมณ์ผิดปกติ โดยมีช่วงซึมเศร้า (depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดี หรือคึกคักมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) ซึ่งขออธิบายแยกเป็นช่วงๆ คือช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติ หรือเมเนีย (mania) ผู้ป่วยจะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. อารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ร่าเริงมีความสุข เบิกบานใจ หรือหงุดหงิดง่ายก็ได้ ซึ่งญาติใกล้ชิดของผู้ป่วยมักจะสังเกตได้ว่าอารมณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนผิดปกติ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  2. มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีความเชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถมาก เกินไป เชื่อว่าตนเองสำคัญ และยิ่งใหญ่ หรืออาจมีเนื้อหาของความคิดผิดปกติมาก ถึงขั้นว่าตนเองสำคัญ หรือยิ่งใหญ่ เช่น เชื่อว่าตนเองมีอำนาจมาก หรือมีพลังอำนาจพิเศษ เป็นต้น
  3. การนอนผิดปกติไป ผู้ป่วยจะมีความต้องการในการนอนลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่านอนแค่ 3 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น
  4. ความคิดแล่นเร็ว (flight of idea) ผู้ป่วยจะคิดค่อนข้างเร็ว บางครั้งคิดหลาย ๆ เรื่องพร้อมๆ กัน คิดเรื่องหนึ่งไม่ทันจบก็จะคิดเรื่องอื่นทันที บางครั้งอาจแสดงออกมาในรูปของการมีโครงการต่างๆ มากมาย
  5. พูดเร็วขึ้น เนื่องจากความคิดของผู้ป่วยแล่นเร็ว จึงส่งผลต่อคำพูด ที่แสดงออกมาให้เห็น ผู้ป่วยมักจะพูดเร็ว และขัดจังหวะได้ยาก ยิ่งถ้าอาการรุนแรงคำพูดจะดัง และเร็วขึ้นอย่างมากจนบางครั้งยากต่อการเข้าใจ
  6. วอกแวกง่าย ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน และความสนใจมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามากระตุ้นได้ง่าย
  7. การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยบางรายจะทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดเวลา ทั้งที่ทำงาน ที่โรงเรียน หรือที่บ้าน มีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นชัดเจน ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้
  8. ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ผู้ป่วยเมเนียมักจะแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากการยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เช่น ดื่มสุรามากๆ โทรศัพท์ทางไกลมากๆ เล่นการพนัน หรือเสี่ยงโชคอย่างมาก ใช้เงินมากขึ้น ได้

** สำหรับอาการไฮโปเมเนียนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการข้างต้นเช่นเดียวกับเมเนีย แต่จะแตกต่างกับเมเนียคือ อาการไฮโปเมเนียจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ หรือการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก และผู้ป่วยต้องมีอาการอย่างน้อยที่สุดนาน 4 วัน

หากพบเห็นบุตรหลาน หรือบุคคลในครอบครัวมีอาการใกล้เคียงดังกล่าว ควรพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook