อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต และอาหารทางสายยาง
อาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว โดยเฉพาะอาหารที่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ต้องใส่ใจทั้งหน้าตา รสชาติ และโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้อร่อยถูกปาก ลดความเสี่ยงโรคและฟื้นฟูสุขภาพให้ดีขึ้น
อาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่พบได้บ่อยในไทย มีดังนี้
- อาหารสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน
จะมีการจัดปริมาณอาหารแต่ละกลุ่มอย่างสมดุล ทั้ง แป้ง โปรตีน ไขมัน ผัก และผลไม้ ข้าวกับแป้งทานได้ 2-3 ส่วนต่อมื้อ จะใช้วัตถุดิบที่มีใยอาหารสูงเพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ ลดการดูดซึมไขมันส่วนเกิน ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ควรหลากหลายทั้งเนื้อขาวและแดง และโปรตีนจากพืชเพื่อเพิ่มใยอาหาร ปริมาณโปรตีนควรมากพอเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินได้ น้ำตาลฟรุกโตสจากผลไม้ควรได้ในปริมาณที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้วิตามินแร่ธาตุสำคัญครบถ้วน และไม่ก่อกวนระดับน้ำตาลในเลือด
- อาหารสำหรับผู้เป็นโรคมะเร็ง
ควรทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดีระหว่างการรักษา ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุบางชนิดเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันและการฟื้นตัวของร่างกาย โดยเนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีและย่อยง่าย มีพลังงานสูงที่เพียงพอเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และขั้นตอนการปรุงต้องป้องกันการติดเชื้อในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอระหว่างการรักษา หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และอาหารหมักดอง รวมถึงดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย
- อาหารสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ
เกลือและไขมัน (Omega 3 และ 9) คืออาหารที่ช่วยดูแลหัวใจและหลอดเลือดในภาวะที่เส้นเลือดแดงสูญเสียความยืดหยุ่น หรือ มีความเสี่ยงเส้นเลือดอุดตันเพิ่มขึ้น ควรลดเกลือและความเค็มที่เกินความจำเป็นจะช่วยป้องกันหัวใจไม่ให้ทำงานหนักจากภาวะบวมน้ำ เนื้อแดงทานได้ไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์ เพราะไขมันอิ่มตัวส่งผลไม่ดีของเส้นเลือดหัวใจและสมอง ควรเลือกทานเนื้อสัตว์สีขาวในสัดส่วนที่พอดีเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เสริมความแข็งแรงและภูมิคุ้มกัน เพิ่มโปรตีนจากพืช ช่วยลดการดูดซึมไขมันส่วนเกินในลำไส้ ทานเมนูที่มีน้ำมันกรดไขมันอิ่มตัวต่ำในปริมาณที่พอดี มีใยอาหารสูง 20 - 25 กรัมต่อวัน เติมเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ช่วยถนอมเส้นเลือดแดง ลดการใช้ยาลดความดัน
- อาหารสำหรับผู้เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง
อาหารควรลดโพแทสเซียม เพื่อรักษาภาวะโภชนาการ ผักต้องลวกเพื่อล้างโพแทสเซียมออกให้ได้มากที่สุด ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องควบคุมเกลือและโพแทสเซียมทุกคน ขึ้นอยู่กับความสามารถของไตแต่ละคนว่าเสียสมดุลการทำงานของโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสเฟตแค่ไหน หากไตเสื่อมระดับ 3 ขึ้นไป ควรเลือกชนิดโปรตีนคุณภาพดีและคำนวณปริมาณโปรตีนตามน้ำหนักตัวให้ถูกต้อง จะช่วยชะลอการเสื่อมของโรคไต ยืดเวลาการรักษาด้วยการฟอกเลือดได้ อาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยไตเสื่อมบางคน เช่น อาหารแคลเซียมสูง เครื่องดื่มที่มี Oxalate สูง เป็นต้น
- อาหารทางสายให้อาหาร
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปาก จำเป็นต้องได้รับอาหารทางสาย จะแบ่งออกเป็น 2 สูตรหลักๆ คือ สูตรอาหารสำเร็จรูป (Commercial Formula) และสูตรอาหารปั่นผสม (Blenderized Formula) อาหารสำเร็จรูป จะผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำทางโภชนาการและงานวิจัยสำหรับแต่ละโรค สามารถเก็บสารอาหารได้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ จะมาในรูปแบบผงแล้วนำมาละลายน้ำเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน อาหารที่ปั่นผสมจะมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าว/แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และน้ำมัน ปริมาณจะเหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย จากนั้นนำวัตถุดิบที่ชั่งตวงไว้ทั้งหมดมาทำให้สุก ปั่นให้ละเอียด และกรองเอากากออกเพื่อให้ไหลผ่านสายให้อาหารได้โดยไม่อุดตัน