กินอย่างไร ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วย “เบาหวาน”

กินอย่างไร ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วย “เบาหวาน”

กินอย่างไร ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วย “เบาหวาน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า แม้โรคเบาหวาน จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีความสุข 

โดยผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัว จนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาทิ หลอดเลือดหัวใจอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด โปรตีนรั่วในปัสสาวะจนนำไปสู่โรคไตเสื่อม หลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และสตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจเกิดการแท้งบุตรได้

ควบคุมอาหาร ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้

การควบคุมอาหาร โดยรู้จักเลือกกินอาหารที่เหมาะสมในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยาเบาหวานโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45–60 กรัมต่อมื้อ คิดเป็นข้าวสวยไม่เกิน 3–4 ทัพพี เท่านั้น ในขณะที่อาหารตามสั่งทั่วไปอาจให้ข้าวมากกว่า 4 ทัพพี ซึ่งมีน้ำตาลมากกว่าที่ยาจะควบคุมได้ 

วิธีควบคุมน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วย “เบาหวาน”

  1. เลือกเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลช้าลง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 
  2. ควบคุมปริมาณข้าวที่กิน ไม่ควรกินธัญพืชเพิ่มจากข้าว เช่น ข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น เป็นต้น
  3. งดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม 
  4. เลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานจัดในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว ฝรั่ง 
  5. ไม่ควรดื่มนมจืดเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำพร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน ซึ่งลดเฉพาะปริมาณไขมันแต่มีน้ำตาลเหมือนเดิม 
  6. นมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูง จึงไม่ควรกินทุกวัน

ทั้งนี้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ ควรออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทก หรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ  หรือเลือกความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากมีอาการเหนื่อย ให้ลดความเร็วลงหรือหยุดพักแล้วค่อยเดินต่อ ไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หมั่นตรวจดูแลสุขภาพเท้าเป็นประจำ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น ให้จิบน้ำเป็นระยะ ทุก 10 – 15 นาที 

ที่สำคัญ ควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรมีระดับน้ำตาลในช่วง 100-250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ให้ตระหนักตนเองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ การเป็นโรคเบาหวาน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังสุขภาพตนเองอีกทางหนึ่งด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook