จุดดำบน “กระเทียม” คือ “เชื้อรา” จริงหรือ? เสี่ยงมะเร็งหรือไม่?
เคยหยิบกระเทียมมาทำกับข้าวแล้วพบจุดดำๆ บนเนื้อกระเทียมหรือไม่ มันคือเชื้อราหรือเปล่า เฉือนออกแล้วนำมากินต่อได้หรือไม่ อันตรายมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีคำตอบ
จุดดำบน “กระเทียม” คือ “เชื้อรา” จริงหรือ?
จากที่มีการแชร์ข้อมูลว่ารอยจุดสีน้ำตาลที่พบบนเนื้อกระเทียม คือเชื้อรา ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อราพวกนี้เป็นเชื้อราที่มีพิษหรือสารก่อมะเร็งนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า จุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมอาจเกิดจากรอยช้ำของกระเทียมส่งผลให้เชื้อราหลากหลายชนิดอาจปนเปื้อนหรือเข้าไปเจริญอยู่ในบริเวณรอยช้ำนั้นๆ โดยมักพบในกระเทียมที่มีการเก็บรักษาไม่เหมาะสมหรือเก็บไว้เป็นเวลานาน
จุดดำในกระเทียม เป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่
ตามที่มีข้อกังวลว่าเชื้อราที่อยู่บนกระเทียมอาจสร้างสารพิษหรือสารก่อมะเร็งนั้น จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัย พบว่า เชื้อรา Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus เป็นเชื้อราที่สามารถสร้างสารอะฟลาทอกซินซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าพบสารอะฟลาทอกซินบริเวณรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียม
สรุปคือ รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมคือรอยช้ำ จึงส่งผลให้เชื้อราหรือจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ปนเปื้อนหรือเข้าไปเจริญอยู่ในบริเวณรอยช้ำนั้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่ารอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมนี้มีสารก่อมะเร็ง
เฉือนกระเทียมเฉพาะส่วนที่มีจุดดำแล้วนำมาประกอบอาหารต่อได้หรือไม่?
หากพบรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียมควรทิ้งไปทั้งกลีบ หรืออาจหั่นบริเวณนั้นทิ้งและควรรับประทานกระเทียมที่ปรุงสุกเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ และแนะนำให้ควรเลือกซื้อกระเทียมที่สดใหม่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด ไม่มีลักษณะของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อรา การเก็บรักษาควรเก็บไว้ในที่แห้งไม่อับชื้นและไม่เก็บไว้นานเกินไป