"มะเร็งปอด" สาเหตุ อันตราย และวิธีรักษา ตรวจเจอเร็ว หายได้
Thailand Web Stat

"มะเร็งปอด" สาเหตุ อันตราย และวิธีรักษา ตรวจเจอเร็ว หายได้

"มะเร็งปอด" สาเหตุ อันตราย และวิธีรักษา ตรวจเจอเร็ว หายได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข้อมูลจาก Global cancer Observatory ขององค์การอนามัยโลก (WHO)  เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2563 โรคมะเร็งปอดมีอุบัติการณ์และอัตราการตายสูงสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย โดบพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่สูงถึง 23,717 ราย หรือคิดเป็น 65 รายต่อวันโดยเฉลี่ย อีกทั้ง ประชาชนไทยอีกกว่า 20,395 ราย หรือคิดเป็น 56 รายต่อวันโดยเฉลี่ยเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงของโรคนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ถึงแม้ว่ามะเร็งปอดยังคงครองสถิติต้นๆ ของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปี ด้วยจำนวนผู้ป่วยใหม่ 23,713 รายต่อปี หรือ 2.7 คนต่อชั่วโมง  ซึ่งการนำเสนอสถิติผู้ป่วยในที่นี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตระหนกหรือตื่นกลัว แต่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นนี้ จะเป็นโอกาสในการสร้างการรับรู้ใหม่และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนทราบว่า “มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด”

สาเหตุของมะเร็งปอด

ปัจจุบันยังมีการค้นพบว่ามะเร็งปอดสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ แต่อย่างไรก็ตาม อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้รวมถึงพันธุกรรมและยีนในร่างกายที่เกิดจากการกลายพันธุ์ไปโดยไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่อย่างใด โดยมากจะพบในคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ไปแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป รวมทั้งความผิดปกติของยีน ได้แก่ การกลายพันธุ์ของยีน EGFR ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทย โดยพบประมาณ 50% รวมทั้งความผิดปกติของยีนอีกชนิดหนึ่ง คือ การสลับที่ของยีน ALK พบได้ประมาณ 5-10% และยังมียีนที่ผิดปกติชนิดอื่นๆ อีกสามชนิด คือ มีการสลับที่ของยีน ROS และ NTRK และการกลายพันธุ์ของยีน BRAF แต่ความผิดปกติของยีนในสามชนิดหลังนี้พบน้อยกว่าโดยมีเพียงชนิดละ 4% เท่านั้น

ชนิดของมะเร็งปอด

มะเร็งปอดมีสองชนิดใหญ่ๆ ด้วยกัน

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer) ซึ่งเป็น 85% ของมะเร็งปอดที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละปีในขณะที่อีก 15% ของผู้ป่วย
  • มะเร็งปอดที่พบเป็นชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) เป็น 15% ของมะเร็งปอดที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละปี ที่มีการเจริญเติบโตเร็วและแพร่กระจายกว่าชนิดเซลล์ไม่เล็ก

ในขณะที่วิทยาการและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบันก้าวหน้าไปมากกว่าเมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันมีการวินิจฉัยมะเร็งปอดด้วยการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และล่าสุดผ่านการสแกนด้วย PET Scan รวมถึงเทคนิคการส่องกล้องทางหลอดลม และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ ทำให้การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดในปัจจุบันมีความรวดเร็ว ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น

พญ.ธนิศา ทองใบ สาขารังสิวินิจฉัยระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามการแสดงอาการ ได้แก่ 

  • กลุ่มที่ไม่มีอาการเลย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเจอว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกาย
  • กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน รับประทานยาแก้ไอแล้วแต่ไม่หาย ดังนั้น พยาธิแพทย์จึงจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อปอดเพื่อนำไปวิเคราะห์แปลผลว่าเป็นมะเร็งปอดหรือไม่

เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาจะร่วมกันวางแผนแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับระยะของโรค ขนาดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง และความพร้อมทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังการผ่าตัด และรังสีรักษา 

กลุ่มเสี่ยง มะเร็งปอด

ผู้ที่มีสุขภาพดีแต่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ 

  • ผู้ที่มีอายุ 50 - 80 ปี 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น สูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองต่อปี หรือเคยสูบบุหรี่นานกว่า 15 ปี 
  • ผู้ที่ประกอบอาชีพในสภาพแวดล้อมที่มีสารพิษ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมรถยนต์ โรงงานผลิตฉนวนกันความร้อน มีโอกาสที่จะสูดดมแร่ใยหินหรือสารแอสเบสทอล (asbestos) นิเกิล โครเมียม เข้าไปเป็นเวลานาน 
  • วินมอเตอร์ไซด์
  • พนักงานกวาดถนน 
  • พนักงานในศาลเจ้าซึ่งสูดดมควันธูปเป็นประจำ เป็นต้น 
  • ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง 
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือมะเร็งปอด ซึ่งอาจมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม 
  • นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ที่ผิดปกติภายในร่างกายของแต่ละคนก็ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน 

ดังนั้น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ลดปริมาณการสูบบุหรี่หรือเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบหรี่ การสวมใส่หน้ากากชนิดที่กันฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดลงได้ 

มะเร็งปอด เจอเร็ว มีโอกาสรอด

ระยะของมะเร็งปอดที่เข้ารับการรักษามีผลโดยตรงต่อโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดย พ.ท. ผศ. นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการคัดกรองมะเร็งปอดและการสังเกตอาการเบื้องต้นว่า “หากเจอมะเร็งปอดในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 5% เท่านั้น ระยะที่ 3 หรือระยะลุกลามเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 30% แต่ถ้าเราเจอมะเร็งปอดระยะ 1 หรือ 2 ก็คือระยะต้น ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี สูงเกือบ 60%

Advertisement

“อย่างไรก็ตามประเทศไทยตรวจพบมะเร็งปอดระยะต้นเพียงแค่ 30% เท่านั้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พบผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นสูงถึง 52-54% เนื่องจากในสหรัฐอเมริกามีแนวปฏิบัติของ National Comprehensive Cancer Network (NCCN) และในยุโรปเองมีแนวปฏิบัติของ European Society of Medical Oncology (ESMO)  ซึ่งแต่ละมาตรการล้วนแนะนำไปในทางเดียวกัน ว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Low dose CT scan) ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีโอกาสที่จะตรวจพบมะเร็งปอดระยะต้นได้มากขึ้น” 

วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

พญ.ธนิศา ได้เปรียบเทียบวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดแบบต่างๆ ว่ามีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันไป “การเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Chest x-ray ซึ่งมักรวมอยู่ในรายการตรวจสุขภาพประจำปี ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะคัดกรองเซลล์มะเร็งปอดในระยะต้นที่มีขนาดเล็ก ส่วน CT scan  ซึ่งมีความแม่นยำสูงกว่ามาก เป็นวิธีที่ต้องรอคิวนาน บุคลากรด้านรังสีแพทย์ยังมีอยู่จำกัด และผู้เข้าตรวจได้รับรังสีในปริมาณสูง ดังนั้น วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในปัจจุบันที่มีมาตรฐานและมีความแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ทรวงอกถึง 6 เท่า คือการตรวจเอกเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (low dose CT scan) ซึ่งช่วยให้พบมะเร็งปอดได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะต้น จึงทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดลงได้ 20%” 

แนวทางในการรักษามะเร็งปอด

  • ผ่าตัด
  • เคมีบำบัด
  • รังสีรักษา

นวัตกรรมแนวทางการรักษามะเร็งปอดมีการพัฒนาไปมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาและทางรอดให้กับผู้ป่วยมากขึ้น โดยการผ่าตัดยังเป็นทางเลือกหลักในการรักษามะเร็งระยะเริ่มแรก ซึ่งกระบวนการการผ่าตัดในปัจจุบันก็มีความทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น และในการรักษามะเร็งปอดระยะลุกลามในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชนิดและมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากกับผู้ป่วย ในขณะที่ปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดระยะลุกลามมีทางเลือกมากขึ้น

ด้านการรักษามะเร็งปอดด้วยวิธีการผ่าตัด นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า “หากแพทย์ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นผ่าตัดได้ เทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดใหญ่แบบเปิดช่องอก โดยแพทย์จะผ่าก้อนเนื้อออกไป ผ่าตัดปอดบางกลีบ หรือผ่าปอดออกทั้งข้าง วิธีนี้มีข้อจำกัดก็คือ แผลค่อนข้างใหญ่และผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นนาน ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งแผลมีขนาดเล็กและใช้เวลาพักฟื้นสั้น ทั้งนี้ การรักษามะเร็งปอดระยะต้นด้วยวิธีการผ่าตัดทั้งสองเทคนิคช่วยเพิ่มโอกาสหายขาดให้กับผู้ป่วยได้มาก”

ในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดควบคู่ไปด้วย โดย พ.ท. ผศ. นพ.ไนยรัฐ กล่าวเสริมว่า “การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นมีทั้งให้ก่อนและหลังการผ่าตัด ดังนี้ การให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนขนาดค่อนข้างใหญ่ ยาเคมีบำบัดจะทำหน้าที่ช่วยลดขนาดก้อนก่อน เพื่อให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น ส่วนการให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด กลไกการทำงานของยาจะเข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งขนาดเล็กที่อาจหลุดเข้าสู่กระแสเลือด และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ช่วยให้ผู้ป่วยคงระยะปลอดโรคไว้ได้นานที่สุด ระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดอยู่ที่ 4-6 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์”

รศ.พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา) สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด เพราะปัจจุบันมียาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายชนิด ซึ่งผลข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มเก่า และยังมีการพัฒนายารักษามะเร็งกลุ่มใหม่ๆ เช่น การรักษาแบบตรงจุด หรือ แบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยยากระตุ้นภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวในร่างกาย (Immunotherapy) เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งปอดบางรายอีกด้วย”

นอกจากนี้ รังสีรักษายังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษามะเร็งปอดระยะต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยผ่าตัดไม่ได้ ผศ.พญ.ดนิตา กานต์นฤนิมิต รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า “แพทย์จะใช้เครื่องฉายแสงส่งผ่านรังสีออกมา รังสีเป็นคลื่นพลังงานสูง แต่ไม่มีคลื่นความร้อน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวล รังสีสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในก้อนหรือเซลล์มะเร็งและตรงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ส่งผลให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวต่อได้และตายในที่สุด ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือรังสีจะพุ่งเป้าไปที่รอยโรคได้อย่างแม่นยำ เกิดผลข้างเคียงน้อย และใช้เวลารักษาไม่นาน โดยทั่วไปใช้แพทย์จะฉายรังสีประมาณ 3-10 ครั้ง ใน 1-2 สัปดาห์ ให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีมาก พบว่าในช่วง 5 ปี ผู้ป่วยกว่า 90% ไม่พบการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ”

มะเร็งปอดถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นมะเร็งปอดนั้น กว่าร้อยละ 70 มักจะตรวจพบในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายแล้ว  ดังนั้น การสร้างตระหนักและป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนผู้ที่มีแนวโน้มการเกิดมะเร็งปอดควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพราะการเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ระยะต้นมีโอกาสสูงที่ผลลัพธ์การรักษาจะเป็นไปในทางที่น่าพึงพอใจ และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังโหลดข้อมูล
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้