ประโยชน์ใบกระท่อม กับการใช้เพื่อสุขภาพตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน
ใบกระท่อมมีคุณสมบัตแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ แล้วแต่ละพันธุ์นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับร่างกายอย่างไรได้บ้าง ข้อมูลจาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า
กระท่อมในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 3 สายพันธุ์ คือ
- ใบกระท่อม สายพันธุ์ก้านแดง
ลักษณะใบกระท่อม: มีก้านและเส้นใบสีแดง รวมถึงหูใบสายพันธุ์ก็มีสีแดงเช่นกัน ทั้งนี้ ลักษณะก้านแดง ก้านเขียว จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย
- ใบกระท่อม สายพันธุ์แตงกวา (ก้านใบสีเขียว)
ลักษณะใบกระท่อม: มีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ หูของใบมีสีเขียวอ่อน ทั้งนี้ ลักษณะก้านแดง ก้านเขียว จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย
- ใบกระท่อม สายพันธุ์ยักษ์ใหญ่ (ขอบใบหยัก/หางกัง)
ลักษณะใบกระท่อม: มีใบขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่น และส่วนบนของขอบใบเป็นรอยหยัก
ประโยชน์ใบกระท่อม กับการใช้เพื่อสุขภาพตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน
สายพันธุ์กระท่อมที่นิยมใช้ คือ สายพันธุ์ก้านแดง หมอพื้นบ้านนิยมนำมาทำเป็นส่วนของเครื่องยาในตำรับ และใช้เป็นยาเดี่ยวเพื่อรักษาโรค เช่น โรคท้องร่วง โรคเบาหวาน โรคปวดเมื่อย แก้ไอ ขับพยาธิ เป็นต้น
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมเคี้ยวใบสด (นำใบสดมาลอกก้านใบออก โดยเคี้ยวเหลือแต่กาก แล้วคายออก ดื่มน้ำตาม) เพื่อทำงาน เพื่อสังสรรค์ และกินเพื่อรักษาโรค โดยให้เหตุผลว่า
“ที่ใช้ก้านแดง เพราะก้านเขียวพอกินแล้วมันมีเมือก กว่าจะออกฤทธิ์ก็นาน ก้านแดงออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าก้านเขียว ความคงทนของฤทธิ์ ก้านแดงมีฤทธิ์นานกว่าก้านเขียว ในขณะที่กินปริมาณเท่ากันเวลาเดียวกัน”
ส่วนใบกระท่อมสายพันธุ์ยักษ์ใหญ่ ชาวบ้านไม่นิยมปลูก โดยให้เหตุผลว่า “เมื่อเคี้ยวใบพันธุ์ยักษ์ใหญ่ จะมีอาการเมามากกว่าพันธุ์ก้านแดง” ช่วงที่มีการปราบปราม และตัดทำลายต้นกระท่อม ทำให้สายพันธุ์ก้านแดงเริ่มหายาก ปัจจุบันชาวบ้านจึงนิยมใช้สายพันธุ์ก้านเขียวมากกว่าก้านแดง