ออทิสติก และ ออทิสติกเทียม คืออะไร พฤติกรรมเสี่ยงมีอะไรบ้าง

ปล่อยลูกน้อยไว้กับ “ทีวี” “แท็บเล็ต” เสี่ยงเป็น “ออทิสติกเทียม”

ปล่อยลูกน้อยไว้กับ “ทีวี” “แท็บเล็ต” เสี่ยงเป็น “ออทิสติกเทียม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้บางครั้งหันไปเห็นคุณแม่นั่งทานข้าว เล่นมือถือ แล้วปล่อยให้ลูกนั่งสไลด์ไอแพดเล่น หรือบางคนอาจจะอยากปั่นงานที่บ้าน เลยเปิดทีวีช่องการ์ตูนให้ลูกน้อยดู พร้อมกองขนมข้างตัว เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งเลห่านี้หากทำบ่อยๆ นานๆ จนลูกน้อยชิน อาจทำให้ลูกน้อยขาดพัฒนาทางร่างกายและสมองอย่างที่ควรจะเป็น จนกระทั่งรู้ตัวอีกที เด็กๆ อาจเสี่ยงโรค “ออทิสติกเทียม” ได้

“ออทิสติกเทียม” คืออะไร?

ทุกคนคงรู้จัก “ออทิสติก” ที่หมายถึงความผิดปกติในสมองของเด็ก ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ และจำกัด จนทำให้สมอง และร่างกายขาดการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย จนทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ช้ากว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน

สำหรับ “ออทิสติกเทียม” เป็นความผิดปกติของสมองเช่นเดียวกัน แต่มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมือนออทิสติกแท้ทีมีความผิดปกติจากสมองของเด็กเอง อาจจะตั้งแต่แรกเกิด หรือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

พฤติกรรมเสี่ยง “ออทิสติกเทียม”

  1. ไม่สบตากับคนที่พูดด้วย
  2. ทำอะไรซ้ำๆ
  3. อายุเกือบ 2 ขวบ แต่ยังพูดไม่ได้ หรือพูดแต่ภาษาที่คนอื่นไม่เข้าใจ
  4. ไม่แสดงท่าทาง หรือส่งเสียงเรียก
  5. ไม่ตอบสนองต่อแสง สี หรือเสียง
  6. ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้
  7. ร้องไห้หนักแบบไม่มีเหตุผล
  8. ผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เช่น หากติดไอแพด หรือทีวี เดินไปปิด หรือดึงคืน จะร้องเสียงดังจะเป็นจะตาย
  9. ไม่สนใจคนรอบข้าง
  10. ไม่สนใจที่จะแสดงความรัก โดยการอุ้ม กอด หอม
  11. ไม่มีความพยายามในการลอกเลียนแบบท่าทาง หรือเสียงของพ่อแม่ หรือคนรอบข้าง
  12. เล่นสมมติไม่เป็น เช่น สมมติว่าเป็นตุ๊กตา ก็จะไม่สามารถหยิบจับตุ๊กตาในท่าทางที่ถูกต้องได้
  13. ไม่สนใจทำกิจกรรม หรือพูดคุยกับเด็กคนอื่นๆ ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว
  14. ไม่สามารถบอก หรือแสดงความต้องการของตัวเองได้
  15. มีอาการแสดงออกที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน

 

วิธีการเลี้ยงดู เพื่อหลีกเลี่ยง “ออทิสติกเทียม”

  1. ไม่ควรให้เด็กเล็กดูทีวี หรือเล่นแท็บเล็ตอยู่คนเดียวนานเกินไป เพราะจะทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และไม่รู้จักการสื่อสารกับคนอื่น
  2. ควรให้ลูกน้อยได้เล่นของเล่น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้แก่สมอง และร่างกาย โดยเลือกให้เล่นทีละอย่าง อย่าให้หลายๆ อย่างในครั้งเดียวกัน เพราะเด็กอาจเกิดความสับสน และเพื่อช่วยให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับของเล่นทีละชิ้น
  3. พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ พูดช้าๆ ชัดๆ ให้เขาได้เรียนรู้การออกเสียง และเลียนแบบพฤติกรรมของผู้เลี้ยงดู
  4. ฝึกให้หยุดร้องงอแงเมื่อเด็กงอแงโดยไร้เหตุผล และให้รางวัลกับเด็กเมื่อทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง
  5. พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู ต้องพยายามมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมของเด็กให้มากขึ้น ไม่ว่าเด็กจะกำลังเล่น หรือทำอะไรอยู่

ใครที่กำลังสงสัยว่าลูกน้อยเสี่ยงเป็นโรคออทิสติกหรือเปล่า ไม่ว่าจะแท้หรือเทียม ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไข และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสายเกินแก้ จนกระทบต่อพัฒนาการ และการใช้ชีวิตในสังคมของลูกน้อยในภายภาคหน้านะคะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก momypedia.com, autismthai.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook