8 สาเหตุที่ทำให้ "นอนไม่หลับ" และวิธีรักษา

8 สาเหตุที่ทำให้ "นอนไม่หลับ" และวิธีรักษา

8 สาเหตุที่ทำให้ "นอนไม่หลับ" และวิธีรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พฤติกรรมการนอนของคุณเป็นแบบไหน เมื่อหัวถึงหมอนก็นอนหลับสบาย ไม่ต้องมีเรื่องให้เครียด หรือกังวลใดๆ แต่กับอีกหลายๆ คนอาจจะประสบปัญหาเรื่องการนอน ทั้งนอนหลับยาก ต้องใช้เวลานานกว่าจะหลับ ตื่นบ่อย นอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท ทำให้เวลาตื่นนอน รู้สึกไม่สดชื่น เมื่อพฤติกรรมเหล่านี้ถูกสะสมไปเรื่อยๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความจำเริ่มถดถอย ประสิทธิภาพในการเรียน การทำงานลดน้อยลง อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย ส่วนทางด้านสุขภาพ เมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาสุขภาพก็จะตามมา ดังนั้นเราควรรีบหาวิธีแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ

พญ.อนงนุช ชวลิตธำรง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จาก Addlife Check-Up Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้มาให้ข้อมูลว่า การนอนไม่หลับจริงๆ ไม่ใช่โรค แต่เป็นปัญหาการนอนไม่เพียงพอ ทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วไม่สดชื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงานและความสัมพันธ์กับผู้อื่น ลักษณะการนอนไม่หลับ เช่น กว่าจะหลับใช้เวลานาน นอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อย นอนสั้นตื่นเร็ว ตื่นแล้วไม่สดชื่น

สาเหตุของการนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  1. ความเครียด อาจเกิดจากงาน หรือปัญหาครอบครัว
  2. สภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ มีโรคทางจิต เช่น ซึมเศร้า
  3. ยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดัน ยาสเตียรอยด์ ยารักษาหวัด ลดอาการคัดจมูก เป็นต้น
  4. สารกระตุ้น เช่น คาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอล์
  5. สภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น เสียงดัง มีแสงรบกวน อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป
  6. ตารางการนอนเปลี่ยนแปลง เช่น Jetlag จากการเดินทาง การทำงานเป็นกะ กลางวันกลางคืน
  7. ขาดฮอร์โมน เช่น Melatonin, Growth hormone, Sex hormone
  8. ขาดสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุบางชนิด เช่น สังกะสี วิตามินบี5 และทริปโตฟราน เป็นต้น

การนอนที่ดีควรนอนหลับให้สนิทซึ่งเมื่อตื่นจะรู้สึกสดชื่น แจ่มใสทั้งวัน การนอนแม้นอนนาน แต่ถ้าตื่นแล้วยังง่วงเพลียก็ถือว่านอนหลับไม่ดี ซึ่งจำนวนชั่วโมงที่คนเราต้องการเพื่อนอนหลับพักผ่อน ซ่อมแซมร่างกายของแต่ละบุคคลก็จะแตกต่างกัน ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุยิ่งน้อยยิ่งนอนนาน เด็ก 5-10 ขวบ ต้องใช้เวลานอนนานถึง 9-11 ชั่วโมง ส่วนผู้ใหญ่โดยเฉลี่ย ต้องนอน 7-9 ชั่วโมง แต่บางคนก็ต้องการนอนน้อยกว่านี้ ต้องดูว่ากลางวันรู้สึกสดชื่นหรือไม่ ถ้ารู้สึกง่วง ซึม ก็แปลว่า นอนไม่พอการเข้านอนไม่ควรดึกเกิน 22.00 น. เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการนอนเต็มที่ ส่งผลให้หลับสนิทอย่างมีคุณภาพ ผลเสียจากการนอนไม่เพียงพอจะทำให้ง่วงกลางวัน อ่อนเพลีย สมาธิ ความจำแย่ลง และยังเพิ่ม ความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

วิธีแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เข้านอนและตื่นตรงเวลา ไม่นอนกลางวัน หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ นิโคติน แอลกอฮอลล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงออกกำลังกายก่อนนอน 3-4 ชั่วโมง ไม่รับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน ไม่ทำงานบนเตียง จัดสภาพแวดล้อมห้องนอนให้เหมาะสม เงียบสงบ มืด ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป อาจผ่อนคลายก่อนนอนด้วยการอ่านหนังสือ ฟังเพลง
  2. ในกรณีที่ร่างกายเริ่มเสื่อม การปฏิบัติดังกล่าวนี้อาจยังไม่ดีขึ้น จึงควรไปพบแพทย์ โดยต้องเริ่มหาสาเหตุและรักษาให้เฉพาะเจาะจง สาเหตุที่พบบ่อยคือ
  • ร่างกายขาดฮอร์โมน เช่น Estrogen, Progesterone Testoterone, Thyroid hormone, 
    Growth hormone, Melatonin
  • ร่างกายขาดวิตามินแร่ธาตุ เช่น Magnesium, Zinc

ร่างกายขาดสารสื่อประสาทเนื่องจากขาดโปรตีน เช่น Tryptophan โดยแพทย์ด้าน Anti–Aging จะตรวจวิเคราะห์ผลเลือดอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยภาวะขาดสมดุลเหล่านี้ และรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนธรรมชาติ และสารอาหาร วิตามินแร่ธาตุแบบเฉพาะบุคคล ตามที่ร่างกายแต่ละคนต้องการอย่างตรงจุด 

การรักษาอาการนอนไม่หลับสามารถแก้ไขได้ ซึ่งการรักษาที่ให้ผลดีที่สุด คือ รักษาที่ต้นเหตุ โดยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่ถูกวิธีและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook