อาการเมื่อติดโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” อันตรายที่ควรระวัง
จากการตรวจพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แบบกลายพันธุ์ชนิดโอมิครอน ที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มแตกตื่นและระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ดังจะเห็นจากการที่หลายๆ ประเทศเริ่มปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงพบผู้ติดเชื้อ เนื่องด้วยโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุดนี้ เริ่มเป็นที่ทราบกันว่าสามารถต่อต้านวัคซีนได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ ให้เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวล่าสุด B.1.1.529 ถือเป็น "สายพันธุ์น่าวิตกกังวล" (VOC) ใช้ชื่อเรียกจากภาษากรีกว่า "โอมิครอน" (Omicron) โดยเป็นเชื้อไวรัสตัวที่ 5 ในกลุ่ม ต่อจาก อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา
อาการเมื่อติดโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน”
แพทย์หญิง แองเจลีก คูตเซีย ประธานสมาคมแพทย์แอฟริกาใต้ ที่ตรวจพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แบบกลายพันธุ์ชนิดโอมิครอน เผยกับสำนักข่าว เดอะ เทเลกราฟ จากสหราชอาณาจักร ว่า อาการของผู้ติดเชื้อแบบกลายพันธุ์ชนิดนี้แปลกแต่ไม่รุนแรงนัก โดยสังเกตอาการที่แตกต่างไปจากเดิม คือ
- ไม่พบว่าเสียการรับรสหรือกลิ่น
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
เป็นต้น
โควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” อันตรายอย่างไร
นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมเผยว่า ไวรัสชนิดนี้มีการกลายพันธุ์มากกว่า 32 ครั้งในหนามโปรตีนสำคัญ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “จากการดูพันธุกรรมไวรัสนี้ พัฒนาเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายง่ายอยู่แล้ว อย่างน้อยการแพร่กระจายของโรค ก็ไม่น่าจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา” ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่กระจายได้ง่ายเท่ากับหรือมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในขณะนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่ยังมีอาการไม่รุนแรง “สำหรับไวรัสตัวนี้ยังใหม่เกินไปที่จะบอกว่าอาการของโรคลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น จะต้องดูจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ผลการรักษา อัตราการเสียชีวิตระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล เปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ เช่น สายพันธุ์เดลตา”
นอกจากนี้ แพทย์หญิง แองเจลีกยังลงความเห็นว่า ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่มีร่างกายแข็งแรง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
ต่อให้ต้านทานวัคซีนได้ แต่ฉีดวัคซีนก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉีดเลย
สำหรับการหลบหลีกการทำงานของวัคซีนในสายพันธุ์นี้ หมอยงระบุว่า “คงต้องรอการศึกษา รวมทั้งประสิทธิภาพของ monoclonal antibodies ที่วางจำหน่ายแล้ว และยาที่วางแผนในการรักษา”
อย่างไรก็ตาม “สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นถ้าหลบหลีกภูมิต้านทาน ก็จะทำให้ลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่ไม่ใช่ว่าวัคซีนจะไม่ได้ประสิทธิภาพเลย เช่น วัคซีนเคยได้ประสิทธิภาพ 90% สายพันธุ์ใหม่อาจจะลดลงมาเหลือ 70-80 เปอร์เซ็นต์
“ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้มากที่สุด และทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ไวรัสนี้ไม่หมดไปอย่างแน่นอนถ้าทุกคนมีภูมิต้านทาน ถึงแม้จะเป็นบางส่วนก็จะลดความรุนแรงของโรคลง ลดการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิต จะทำให้มองดูว่าการติดเชื้อนี้เหมือนกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป”
ชุดตรวจ PCR ในไทย ยังสามารถตรวจจับสายพันธุ์ "โอมิครอน" ได้หรือไม่
ข้อมูลจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ระบุว่า ชุดตรวจ PCR ที่ใช้ตรวจไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดี ยังสามารถตรวจจับสายพันธุ์โอมิครอน (B.1.1.529) ได้ แต่ต้องระมัดระวัง
ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้ดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโอมิครอน ทั้ง 125 ตัวอย่าง ที่ทางนักวิทยาศาสตร์แอฟริกาได้อัปโหลดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole genome sequence) ของไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้นบน GISAID ฐานข้อมูลโควิดโลก เอาไว้ มาทดสอบด้วยวิธีชีวสารสนเทศกับตัวตรวจตามของชุดตรวจ PCR ที่ทาง WHO ให้การรับรอง โดยอาศัยโปรแกรมที่ชื่อว่า Nextclade
ปรากฏว่าจากการวิเคราะห์ผลบนคอมพิวเตอร์ (ซึ่งต้องยืนยันผลกับตัวอย่างเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง) พบว่าทั้ง 125 ตัวอย่างมีแนวโน้มว่าอาจเกิดปัญหากับชุดตรวจ PCR "บางยี่ห้อ" ไม่ใช่ทุกยี่ห้อที่ WHO ให้รายชื่อไว้ คืออาจให้ผลบวกน้อยทั้งที่มีเชื้อจำนวนมาก หรือเกิดผลลบปลอม (false negative) ได้ในบางยีน โดยอาศัยการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของตัวตรวจตาม (PCR primer) กับส่วนจีโนมของสายพันธุ์โอมิครอนที่กลายพันธุ์ไปว่ายังตรวจจับกันได้หรือไม่ หรือตรวจจับไม่ได้เลยเนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ไปมาก
อย่างไรก็ตามชุดตรวจ PCR ส่วนใหญ่จะตรวจยีน 2-3 ยีนพร้อมกัน การตรวจไม่พบหรือการ "dropout" บางยีน อาจไม่ส่งผลกระทบมากนักเพราะจะมีผลบวกจากยีนตำแหน่งอื่นคอยยืนยัน
ดังนั้นศูนย์รับตรวจโควิด-PCR คงต้องระมัดระวังเลือกใช้ชุดตรวจ PCR ที่ผ่านการทดสอบว่าไม่มีปัญหาในการตรวจจับสายพันธุ์โอมิครอน
อย่างไรก็ตาม ทุกคนลงความเห็นว่า การป้องกันจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ดีที่สุด ยังคงเป็นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลักเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด รักษาระยะห่าง รับประทานอาหาร 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างคุมกันให้กับร่างกายอยู่ตลอดเวลา