เป็นหวัด หรือ ภูมิแพ้กันแน่?
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
บางครั้งโรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส (viral rhinitis) หรือหวัด (common cold) กับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) อาจมีอาการคล้ายกัน
โรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส (viral rhinitis) หรือหวัด (common cold) ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหรือมึนศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล (ใส หรือขุ่น) สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลง และมีการติดเชื้อไวรัสตามมาได้แก่ เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคได้แก่ rhinovirus, influenza, parainfluenza, adenovirus ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ นานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
อาการดังกล่าว มักจะมีอาการ เป็นๆ (มีเหตุมากระตุ้น) หายๆ (ไม่มีเหตุมากระตุ้น) เมื่อผู้ป่วยมีอาการ ต้องมีเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการนำมาก่อน เช่น
- ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, อารมณ์เศร้า, วิตก, กังวล, เสียใจ
- ของฉุน, ฝุ่น, ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแปลง
และอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเองหลังหมดเหตุดังกล่าว หรือดีขึ้นหลังได้รับประทานยาแก้แพ้ ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ [เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้, โรคหืด, โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ หรือที่เรียกว่ากลุ่มโรคอะโทปี (atopic diseases or atopy)] ในสมัยเด็ก หรือในปัจจุบัน เนื่องจากโรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆดังกล่าว เนื่องจากโรคภูมิแพ้ดังกล่าวมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
ตารางข้างล่างอาจพอช่วยแยก 2 โรคนี้ออกจากกันได้
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล