“กระเนื้อ” อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร
ติ่งเนื้อสีเข้มที่ขึ้นตามผิวหนังเป็นเม็ดๆ เล็กๆ มาจากอะไร และอันตรายหรือไม่ หากอยากเอาออกจะมีวิธีการอย่างไร
กระเนื้อคืออะไร
ข้อมูลจาก ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า กระเนื้อ เชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังตามอายุ นอกจากนี้อาจพบมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ ตามหลังการให้ยาฮอร์โมนบางชนิด จึงเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดด้วย
กระเนื้อพบบ่อยที่บริเวณหน้าอก หลัง ใบหน้า คอ และหนังศีรษะ แต่จริง ๆ แล้วสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย โดยในระยะแรกจะเป็นตุ่มสีน้ำตาลอ่อน ต่อไปจะขยายใหญ่นูนหนาขึ้น สีเข้มและผิวขรุขระมากขึ้น
สาเหตุของการเกิดกระเนื้อ
รศ. นพ.เจตน์ วิทิตสุวรรณกุล หน่วยผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึงสาเหตุของการเกิดกระเนื้อได้ ดังนี้
- เป็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น
- ปัจจัยร่วมอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนเพราะมักพบระหว่างตั้งครรภ์ หรือการโดนแสงแดดเป็นเวลานาน
- เกิดได้ทุกตำแหน่งในร่างกาย แต่มักพบบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก หลัง
- อาจเป็นตุ่มแบนหรือติ่งเนื้อนูนออกมา
- ผิวขรุขระเล็กน้อย สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงดำ
กระเนื้ออันตรายหรือไม่
แทบทุกคนจะมีกระเนื้อเมื่ออายุมากขึ้น ถ้ากระเนื้อไม่ได้เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างรวดเร็วแล้วจะไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นในร่างกาย แต่เนื่องจากกระเนื้อมักจะมีขนาดโตขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และถ้ามันอยู่ในบริเวณที่กระทบกระแทกง่าย หรือเราไปแกะเกาทำให้มีเลือดออกก็ขอแนะนำให้รักษา กระเนื้อที่มีสีดำมาก บางครั้งแยกยากจากมะเร็งผิวหนังบางอย่าง ในกรณีเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
การรักษากระเนื้อ
การรักษากระเนื้อ มีหลายวิธี เช่น
- จี้ไฟฟ้า ก่อนจี้จะต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดทาบริเวณรอยโรค แล้วจี้บริเวณรอยโรคด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หลังจากนั้นขูดเนื้อเยื่อบริเวณที่จี้ออก วิธีนี้จะมีแผลตื้น ๆ บริเวณที่ขูดซึ่งจะหายภายใน 1 สัปดาห์
- จี้ด้วยสารเคมี เช่น กรดไตรคลออะซิติค วิธีนี้ไม่ต้องใช้ยาชา แต่จะมีอาการแสบบ้างบริเวณตำแหน่งที่จี้ การจี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตายและหลุดออก ข้อเสีย คือ ถ้ากระเนื้อหนามากอาจหลุดไม่หมด หรือต้องจี้หลายครั้ง
- จี้ด้วยไนโตรเจนเหลว วิธีนี้จะทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นใต้รอยโรค ซึ่งต่อไปจะแห้งเป็นสะเก็ดแล้วหลุดไปใน 2-3 สัปดาห์ ข้อเสียคือบางครั้งอาจเกิดรอยดำหรือขาวหรือแผลเป็นบริเวณรอยโรค สำหรับรอยดำหรือขาวที่เกิดจะจางไปได้ตามเวลา
กระเนื้อไม่มีอันตราย แต่หากมีปริมาณมากอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ หากพบการเปลี่ยนแปลง เช่น ปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รูปร่างหรือสีเปลี่ยนไป ควรพบแพทย์ผิวหนัง