10 วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 เตือนกลุ่มเสี่ยงป้องกันให้ดี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นลมอ่อน ทำให้สภาพอากาศนิ่ง การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดี และมีโอกาสสะสมในพื้นที่ ส่งผลให้ฝุ่นละอองสูงเกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากข้อมูลศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์ปริมาณ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในช่วงนี้การมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเดินทางมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานได้
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงขอแนะนำให้ประชาชนเตรียมตัวดูแลสุขภาพตนเอง และบุคคลในครอบครัวเพื่อรับมือกับฝุ่น PM 2.5 ด้วยวิธี ดังนี้
- ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95
- ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้ง ฟักทองผัดไข่ ผัดบรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แคร์ร็อตลวก บรอกโคลีลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
- ทำความสะอาดบ้าน และอุปกรณ์ภายในบ้าน โดยเฉพาะจุดที่สะสมฝุ่น เช่น แอร์ พัดลม มุ้งลวด เครื่องนอน และเน้นการทำความสะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ
- หมั่นตรวจเช็กบ้านปิดช่องหรือรู ตามขอบประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 จากภายนอกไม่ให้เข้ามาในอาคารในช่วงฝุ่นสูง
- วันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน
- สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์
- ช่วยกันลดฝุ่น PM 2.5 เช่น ลดการปิ้งย่างที่ใช้เตาถ่าน งดจุดธูปเทียนทั้งภายในและภายนอกอาคาร งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถดีเซลที่ปล่อยควันดำ รวมถึงร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดักฝุ่นละออง
ทั้งนี้ ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก แต่ให้ตื่นตัวและติดตามข่าวสาร เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เกิดทุกพื้นที่ ทุกเวลา หากเราใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ