“มะเร็งกระเพาะอาหาร” อาการและพฤติกรรมเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง
มะเร็งกระเพาะอาหาร พบได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลกในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด มีปัจจัยเสี่ยงอะไรที่ควรหลีกเลี่ยงบ้าง
มะเร็งกระเพาะอาหาร พบมากเป็นอันดับ 5 ของโลก
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่พบมาก เป็นอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดทั่วโลก โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารประมาณ 1 ล้านคน สำหรับประเทศไทยข้อมูลทะเบียนมะเร็งรายงานผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่ปีละ 3,185 คน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 2,176 คน
สาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามมีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori
- การรับประทานอาหารปิ้งย่าง
- การรับประทานอาหารหมักดองที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการแสดงออกชัดเจน และอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ดังนี้
- มีอาการท้องอืดจุกแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร
- กลืนอาหารลำบาก
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามอาจอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ หรืออาจมีเลือดปนในอุจจาระ
- น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
หากพบอาหารผิดปกติเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในด้านการวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ อีกด้วย
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปิ้งย่างบ่อยเกินไป หรือไหม้เกรียมจัดเกินไป
- ลดการบริโภคอาหารหมักดอง
- หากมีอาการปวดแสบท้อง รวมถึงอาการผิดปกติตามสัญญาณอันตรายที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยทันที