8 สัญญาณอันตราย "ทอนซิลอักเสบ"

8 สัญญาณอันตราย "ทอนซิลอักเสบ"

8 สัญญาณอันตราย "ทอนซิลอักเสบ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทอนซิลอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องคอ ทำให้เกิดอาการคล้ายกับไข้หวัด เช่น เจ็บคอ คอบวม ไข้สูง กลืนลำบาก ปวดหัว ทอนซิลอักเสบเฉียบพลันอาจมีอาการนานประมาณ 3-4 วัน แต่บางคนอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการอักเสบเรื้อรัง ทอนซิลอักเสบมักสามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม อาจช่วยบรรเทาอาการและเร่งให้หายไวขึ้นได้

ทอนซิลอักเสบ คืออะไร

ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) เป็นการอักเสบของต่อมทอนซิล ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องคอด้านหลังทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ เมื่อเชื้อโรคมีปริมาณมากเกินจนไม่สามารถควบคุมได้ หรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ อักเสบ บวม และอาการเจ็บคอ

ทอนซิลอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ

  • ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน มักจะมีอาการประมาณ 3-4 วัน
  • ทอนซิลอักเสบแบบเป็นๆ หายๆ หมายถึง อาการทอนซิลอักเสบที่เกิดขึ้นปีละหลายครั้ง โดยอาจมีอาการ รักษาจนหาย แล้วกลับมามีอาการใหม่ วนซ้ำไปเรื่อยๆ
  • ทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หมายถึง อาการทอนซิลอักเสบที่มีอาการเรื้อรังยาวนาน

ทอนซิลอักเสบมักพบได้บ่อยในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

อาการของทอนซิลอักเสบ

อาการของทอนซิลอักเสบ อาจมีดังต่อไปนี้

  1. เจ็บคอ คออักเสบ บวม แดง
  2. กลืนลำบาก รู้สึกเจ็บเวลากลืนน้ำลาย
  3. เสียงแหบ
  4. ปวดหัว ปวดหู
  5. เป็นไข้ หนาวสั่น
  6. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  7. บริเวณต่อมทอนซิลอาจมีคราบสีขาวหรือสีเหลือง
  8. มีกลิ่นปาก

นอกจากนี้ เด็กอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  1. ไม่ยอมกินอาหาร
  2. ปวดท้อง
  3. อาเจียน
  4. น้ำลายไหลย้อย
  5. งอแงผิดปกติ

สาเหตุของทอนซิลอักเสบ

ทอนซิลอักเสบอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อไวรัส ทอนซิลอักเสบโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ไวรัสอะดีโน (Adenovirus)
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียที่มักทำให้เกิดทอนซิลอักเสบ คือ สเตรปโตคอคคัส ไพโอจิเนส (Streptococcus Pyogenes) ที่ทำให้เกิดโรคคออักเสบ แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงของทอนซิลอักเสบ

  • อายุ เด็กอายุน้อยมักจะมีโอกาสเกิดทอนซิลอักเสบได้มากกว่า ทารกและเด็กเล็กมักจะเกิดทอนซิลอักเสบจากเชื้อไวรัส ส่วนเด็กที่อายุ 5-15 ปีมักจะเกิดทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุก็อาจมีโอกาสเกิดทอนซิลอักเสบสูงเช่นกัน
  • การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ติดเชื้อง่าย เช่น เด็กวัยเรียนที่ต้องเจอกับเด็กคนอื่นเยอะๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคสูงกว่า และทำให้เกิดทอนซิลอักเสบ

การวินิจฉัยทอนซิลอักเสบ

**ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

คุณหมอสามารถวินิจฉัยทอนซิลอักเสบได้จากการตรวจดูอาการ โดยเฉพาะในบริเวณช่องปาก หลังช่องคอ และลำคอ รวมถึงตรวจวัดไข้ เพื่อดูว่ามีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น อาการอักเสบ อาการบวม มีไข้สูง หรือไม่ นอกจากนี้ คุณหมอก็อาจทำตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การใช้ไม้ป้ายคอ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำลายและเนื้อเยื่อในบริเวณช่องคอไปตรวจสอบดูว่ามีเชื้อแบคทีเรียหรือไม่
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count หรือ CBC) เพื่อตรวจดูว่าค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติหรือไม่ ซึ่งจะสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาทอนซิลอักเสบ

โดยส่วนใหญ่ ทอนซิลอักเสบ โดยเฉพาะทอนซิลอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักจะสามารถหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาเพิ่มเติม แต่สำหรับทอนซิลอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะให้รับประทานเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค ควรรับประทานยาให้ครบตามกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอาการดื้อยา

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีอาการทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง เช่น เป็นมากกว่า 7 ครั้งใน 1 ปี คุณหมออาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก ควรปรึกษาคุณหมอให้ละเอียดก่อนตัดสินใจผ่าตัดต่อมทอนซิล

การดูแลตัวเองที่บ้าน

โดยส่วนใหญ่ อาการทอนซิลอักเสบสามารถหายได้เอง แต่สามารถดูแลตัวเองเพิ่มเติมเพื่อช่วยบรรเทาอาการและเร่งให้หายไวขึ้นได้ ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำให้มาก ควรเลือกน้ำเย็น หรือรับประทานของเย็นๆ เช่น ไอติม น้ำแข็ง อาจช่วยบรรเทาอาการทอนซิลอักเสบได้
  • กลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือ
  • ใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อช่วยลดความระคายเคืองของคอ
  • ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการทอนซิลอักเสบ

การปรับไลฟ์สไตล์ และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันทอนซิลอักเสบ

สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันทอนซิลอักเสบได้ คือการรักษาสุขอนามัยให้ดี ดังนี้

  • ล้างมือบ่อยๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ และผู้ที่เป็นทอนซิลอักเสบ
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ร่วมกับผู้อื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook