รายชื่อ รพ. ที่พร้อมรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยา “แอนติบอดี ค็อกเทล”
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทนำเข้า จัดสรร และกระจายยา แอนติบอดี ค็อกเทล แถลงความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ว่าล่าสุดโรงพยาบาลต่างๆ เกือบ 70 แห่ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มียาแอนติบอดี ค็อกเทล เพียงพอต่อการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาด
"แอนติบอดี ค็อกเทล" เป็นยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ซึ่งมีผลการวิจัยทางคลินิกในต่างประเทศรองรับ และประสบการณ์ตรงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยสนับสนุนว่า ยาแอนติบอดี ค็อกเทล เป็นตัวเลือกการรักษาที่เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงสูงที่โรคอาจลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง เช่น ผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป มีภาวะโรคอ้วน มีภาวะความดันโลหิตสูง มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันถูกกด เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง และโรคไตเรื้องรัง โดยยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถช่วยลดจำนวนไวรัสในร่างกาย จึงช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 70% ลดระยะเวลาการแสดงอาการให้สั้นลง 4 วัน รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
รายชื่อ รพ. ที่พร้อมรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยา “แอนติบอดี ค็อกเทล”
ความพร้อมด้านการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นี้มีส่วนช่วยให้การคลายมาตรการการป้องกันต่างๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดผลดีในวงกว้าง ทั้งต่อชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งยังช่วยคลายความกังวลใจของประชาชนไทย ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ยังได้พิจารณาเพิ่มข้อบ่งชี้ให้ใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 (post-exposure prophylaxis) จากเดิมที่อนุมัติให้ใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล เพื่อการรักษาเพียงอย่างเดียว
นายแพทย์ทวีกฤตย์ สิริพงศ์บุญสิทธิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึงการรับยาแอนติบอดี ค็อกเทลว่า “เพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุดจากการรักษาด้วยยาแอนติบอดี ค็อกเทล ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์และได้รับยาให้เร็วที่สุด หลังตรวจพบเชื้อหรือเริ่มมีอาการ ไม่เกิน 7-10 วัน ยิ่งได้รับยาเร็ว ผลลัพธ์การรักษาก็ยิ่งได้ผลดี แพทย์จะให้ยาทางหลอดเลือดดำ ประมาณ 30-60 นาที ซึ่งถือว่าใช้เวลาสั้นและสะดวก จากนั้นผู้ป่วยต้องสังเกตอาการอีกราว 30 นาที ซึ่งส่วนมากมักไม่แสดงอาการข้างเคียงใด ๆ แพทย์จึงอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยจะติดตามอาการหลังได้รับยาต่ออีกประมาณ 28 วัน”
“เนื่องจากประเทศไทยยังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ไม่ทัน ตอนนี้พวกเราทุกคนจึงต้องช่วยกันลดภาระของระบบสาธารณสุข หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 การประเมินระดับความรุนแรงของอาการเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมามีหลายรายแจ้งกับบุคลากรทางการแพทย์ว่าไม่รู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกว่าตนไม่มีอาการ แต่เพียงไม่นานนัก อาการกลับทรุดลงอย่างรวดเร็วและมาถึงมือแพทย์ล่าช้า จนเชื้อแพร่กระจายลงปอด ปอดติดเชื้อรุนแรง จนผู้ป่วยหลายรายปอดกลายเป็นฟังผืดเรื้อรัง ในฐานะแพทย์ด่านหน้าที่รับมือกับสถานการณ์มาตั้งแต่ระลอกแรก จึงอยากให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของการรีบตรวจและรีบเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการไม่รีรอรีบฉีดวัคซีน”