เลี้ยงลูกแบบไหน เข้าข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน”
พ่อแม่ยุคใหม่ที่พร้อมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ เงิน หลายครอบครัวมีลูกน้อยคนหรือมีลูกเพียงคนเดียว ด้วยความคิดที่ว่าอยากให้เด็กคนนี้ได้รับความรักอย่างเต็มที่ หรือเพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่อย่างที่ตนเองเคยเผชิญ จึงมักจะเลี้ยงลูกแบบที่ประคบประหงมมากจนเกินไป ตามใจเพราะไม่อยากขัดใจลูก กลัวลูกไม่รัก ดูแลปกป้องชนิดที่ลูกไม่ต้องทำอะไรเลยเดี๋ยวพ่อแม่ทำให้ จนแทบจะพูดได้ว่าเด็กมีหน้าที่หายใจเข้าหายใจออกเฉยๆ เท่านั้น
การเลี้ยงลูกแบบที่กล่าวมาข้างต้น แน่นอนว่ามันส่งผลเสียมากกว่าผลดี แบบที่เรียกว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” เพราะนั่นเป็นการเลี้ยงดูลูกในแบบที่ผิดจนส่งผลเสียต่ออนาคตของลูก หากจะให้เห็นภาพชัดที่สุดก็คือในวันที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเขาแล้ว เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับหรืออยู่ในสังคมได้อย่างไม่ลำบากล่ะ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบรักมากเกินไปอาจลืมนึกถึงจุดนี้
“พ่อแม่รังแกฉัน” เป็นการที่พ่อแม่ทำร้ายลูกของตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเกิดมาจากความรักและความหวังดีที่อยากจะดูแลลูกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่มันมากเกินไป เพราะการเลี้ยงลูกในแบบที่พ่อแม่คิดว่าดีที่สุด อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อลูกเสมอไป ดังนั้น การเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ ให้ความรัก อย่างถูกต้องและเหมาะสม ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกันสักนิดดีกว่าว่าความรักแบบที่คุณให้ลูกอยู่นั้น กำลังเข้าข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน” อยู่หรือเปล่า
- รักเกินรักมักทำลาย
พ่อแม่หลายๆ คนรักลูกมาก มากจนเกินไป รักจนหลง ดูแลดุจไข่ในหิน ทำให้ปฏิบัติต่อลูกผิดวิธี ที่เข้าขั้น “รักเกินรักมักทำลาย” คือการที่สุดท้ายแล้วลูกไม่มีที่ยืนในสังคมที่ไม่ใช่ในบ้าน ไม่มีใครคบ ทำตัวเป็นปัญหาสังคม นี่คือผลลัพธ์ของการรักลูกในทางที่ผิด ลูกของตัวเองถูกทุกอย่าง เด็กคนนี้ไม่เคยทำอะไรผิด ทำไม่ดีแทนที่จะอบรมสั่งสอนกลับให้ท้ายสนับสนุน ปกป้องทุกอย่างผิดถูกไม่สนใจ ลูกตัวเองดีกว่าคนอื่น อะไรนิดอะไรหน่อยก็อวยจนเกินเหตุ ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองแบบผิดๆ ใครพูดอะไรไม่ได้ไม่ฟัง ชอบดูถูกคนอื่น เป็นตัวปัญหาที่ไม่เคยรู้ตัวเอง ไม่เคยให้ลูกทำอะไรเอง กลัวลูกเจ็บ กลัวลูกเสียใจ กลัวลูกผิดหวัง แบบนี้คนที่รับผลเต็มๆ คือตัวเด็กเอง
- เลี้ยงดูแบบตามใจ อยากได้อะไรจะหามาให้
พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามใจทุกอย่าง อยากได้อะไรขอให้บอกพ่อแม่ทำให้ทุกอย่าง ไม่เคยขัดใจหรืออธิบายถึงเหตุผลที่ควรจะเป็นให้ฟัง เมื่อใดก็ตามที่ลูกร้องไห้ ก็มักจะปลอบใจด้วยสิ่งของทุกครั้ง โดยไม่ใช้วิธีพูดคุยด้วยเหตุผลให้รู้เรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยวิธีตามใจขนาดนี้ ผลลัพธ์ก็คือพวกเขาจะกลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องได้ ความอดทนต่ำรออะไรไม่เป็น จอมบงการ ก้าวร้าว เพราะทุกอย่างเคยได้มาง่ายๆ เสมอ ถ้าไม่ได้ก็จะแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก แบบนี้เมื่อเด็กออกไปเจอสังคมภายนอก เขาจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยาก หรือไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ อาจกลายเป็นเด็กไม่มีเพื่อนคบ
- ถูกผิดไม่เคยสั่งสอนให้ท้ายเสมอ
ความคิดที่ว่า “ลูกฉันไม่ผิด” และ “ลูกฉันเป็นคนดี” มักเจอได้เสมอ เอาเข้าจริง พ่อแม่ทุกคนที่แยกแยะผิดชอบชั่วดีได้จะรู้อยู่แก่ใจว่าลูกทำผิดหรือไม่ผิด แต่ด้วยความอยากปกป้องลูกจึงมักจะแก้ตัวให้แล้วโทษนั่นโทษนี่ หลอกตัวเองว่าลูกฉันจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขาทำถูกเสมอ ทว่าไม่เคยสอน ปล่อยให้เรื่องเป็นแบบนั้น เพราะกลัวลูกจะเสียใจที่ถูกดุ ถูกลงโทษ เสียหน้าเพราะโดนอบรมสั่งสอน เลยทำให้ลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น กลายเป็นเด็กเกเรที่ชอบรังแกคนอื่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำอะไรก็ไม่เคยรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองก่อ สุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด และสามารถทำเรื่องผิดๆ ได้อย่างไม่รู้สึกละอายใจ
- ปล่อยปละละเลยการเอาใจใส่
เด็กทุกคนต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่ แต่พ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานจนไม่มีเวลาอยู่กับลูก ผลลัพธ์ก็คือลูกขาดความอบอุ่น และจำนวนไม่น้อยขาดการอบรมสั่งสอน เด็กกลุ่มนี้จึงมักจะแสวงหาความสุขจากนอกบ้าน เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วพบว่าการอยู่กับเพื่อนคือความสุข ความรัก ความอบอุ่นที่ไม่เคยได้จากที่บ้าน กลายเป็นติดเพื่อน ถ้าเจอเพื่อนดีก็ดีไปแต่ถ้าเจอเพื่อนไม่ดี สิ่งที่น่ากังวลก็จะตามมา นอกจากนี้ด้วยความที่พ่อแม่กลุ่มนี้ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับลูก จึงแทบไม่เคยรู้ว่าลูกประสบความสำเร็จอะไรบ้าง จึงไม่เคยชื่นชมหรือให้กำลังใจลูก มีโอกาสที่จะคิดว่าพ่อแม่ไม่รักอีกเช่นกัน การอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ทำให้ลูกไม่เคยสัมผัสได้ถึงความรัก ต่อให้พ่อแม่จะรักแค่ไหนก็ตาม
- ประเคนให้ลูกทุกอย่าง
มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีความคิดว่าการรักลูกคือการทำให้ลูกทุกอย่าง โดยที่ลูกจะลำบากไม่ได้ บ้างก็เลี้ยงลูกแบบที่ให้ใช้เงินแก้ปัญหาทุกอย่าง สมองและปัญญาไม่ต้องใช้ ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะเด็กทำอะไรเองไม่เป็นสักอย่าง คิดเองไม่เป็น พึ่งตัวเองไม่ได้ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร เมื่อต้องเข้าสังคม อยู่กับกลุ่มเพื่อนก็คิดว่าคนอื่นจะต้องทำให้เหมือนที่พ่อแม่ทำ ถึงจะอยากลงมือทำเองก็ทำไม่เป็น ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่อาจจะลืมคิดไปว่าตนเองไม่ได้อยู่ดูแลลูกไปตลอดชีวิต ในวันที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตด้วยตนเอง พวกเขาจะอยู่อย่างไรหากไม่เคยได้ทำอะไรเองเลยสักอย่าง
- กำหนดกรอบที่เข้มงวดเกินไป
การกำหนดกรอบหรือระเบียบให้ลูกไม่ใช่เรื่องผิด อย่างไรเสียเด็กก็ต้องทำตามกติกาของสังคม แต่หากกรอบนั้นมันเข้มงวดเกินไป บังคับทุกอย่าง ก็ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของเด็กได้เช่นกัน เมื่อเด็กต้องเข้าสังคม พวกเขาจะปรับตัวได้ยากกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่สำคัญ อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมขี้โกหก ขี้โกง เพื่อที่จะหนีการลงโทษเมื่อตัวเองทำผิดไปจากกรอบที่เคยชิน อาจมีพฤติกรรมที่เรียกว่าใจแตก เพราะรู้สึกสนุกสนานกับการที่หลุดพ้นกรอบที่เข้มงวด นอกจากนี้ยังรวมถึงพ่อแม่ที่ขีดเส้นให้ลูกเดิน ซึ่งลึกๆ คือการเติมเต็มสิ่งที่ตัวเองขาดหายในวัยเด็ก ยัดเยียดทางเดินชีวิตให้ลูก โดยคิดว่าเป็นทางที่ดีที่สุด แต่ไม่เคยถามความเห็นลูก หากลูกคิดจะข้ามกรอบ ก็จะกลายเป็นลูกอกตัญญู
- เป็นแบบอย่างในทางที่ไม่ดี
เด็กมักเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามที่เห็นและได้ยิน ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของเด็ก พบว่าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ตัว เมื่อเด็กอยู่บ้าน เด็กจะเห็นพฤติกรรมของใครอื่นล่ะถ้าไม่ใช่พ่อแม่ หากพ่อแม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีให้ลูกเห็น เช่น ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย พูดจาหยาบคาย เด็กจะจำและซึมซับพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้น ยิ่งเห็นทุกวัน ก็จะยิ่งฝังหัวจนกลายเป็นพฤติกรรมของตัวเองในอนาคต เมื่อโตขึ้นก็แก้ยาก การที่เด็กเห็นพฤติกรรมแย่ๆ แบบนั้นเสมอและก็ไม่มีใครสอนว่าเป็นสิ่งไม่ดี ก็จะเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่คนทั่วไปทำเป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องไม่ดีอะไร เมื่อเด็กเข้าสังคมก็จะนำพฤติกรรมแบบนี้ไปใช้กับคนอื่นๆ ต่อไป