11 อาการอันตรายของผู้ป่วย "เบาหวาน"
อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควรสังเกตเป็นประจำ เพราะอาจหมายถึงค่าน้ำตาลในเลือดกำลังผิดปกติ และอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายในเวลาอันรวดเร็วได้
อ.นพ.ธเนศ แก่นสาร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่อันตรายของผู้ป่วยเบาหวานเอาไว้ ดังนี้
อาการที่เกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำ
- เหงื่อออก
- ใจสั่น มือสั่น
- รู้สึกหิว
- อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง
- สับสน หมดสติ ชัก
วิธีแก้ไข เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ถ้ายังรู้สึกตัวดี กลืนได้ ไม่สำลัก ให้รับประทานอาหารต่อไปได้ทันที เช่น
- ดื่มน้ำหวาน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1/2 แก้ว หรือ
- ดื่มน้ำผลไม้ประมาณ 1/2 แก้ว หรือ 120 ซีซี หรือ
- อมลูกอม 2 เม็ด หรือ น้ำตาล 2 ก้อน หรือ
- ขนมปังแผ่น 1 แผ่น
- ถ้าไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือ กลืนไม่ได้ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
อาการที่เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง
- กระหายน้ำ
- ปัสสาวะบ่อย
- น้ำหนักลด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- สับสน หมดสติ ชัก
วิธีแก้ไข เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง
- ดื่มน้ำอุ่น หรือ น้ำเปล่าที่ไม่มีน้ำตาลบ่อยๆ
- พักผ่อน งดการออกกำลังกายหรือทำงาน
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ลดลง ควรรีบพบแพทย์
- กรณีตรวจพบสารคีโตน หรือ มีอาการเหนื่อยหอบ ปวดท้อง ซึมลงมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
อันตรายจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
หากปล่อยให้ระดับน้ำตาในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน โรคไตเรื้อรัง ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม (ชาปลายมือปลายเท้า)
ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจสอบอาการอยู่เสมอ จะได้รีบรักษา ก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรง