แพทย์แนะ 9 วิธีรักษา “หลุมสิว” ที่ปลอดภัยและได้ผลจริง
วิธีการรักษาแผลเป็นหลุมสิว ควรรักษาสิวตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการอักเสบอยู่เป็นเวลานาน จะเป็นวิธีการป้องกันและลดการเกิดหลุมสิวที่ดีที่สุด พร้อมแนะวิธีการรักษาแผลเป็นหลุมสิวในปัจจุบัน
สาเหตุของหลุมสิว
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หลุมสิวเป็นรอยแผลเป็นแบบบุ๋ม ซึ่งเกิดจากสิวอักเสบ เมื่อการอักเสบของสิวอยู่นาน หรือร่วมกับมีการบีบแกะที่อาจจะทำให้เพิ่มการอักเสบ จะทำให้มีโอกาสเกิดแผลเป็นหลุมสิวตามมามากยิ่งขึ้น
ประเภทของหลุมสิว
หลุมสิวจะมีหลายประเภทขึ้นกับลักษณะของหลุมสิว เช่น
- Ice pick scar คือหลุมแผลเป็นที่มีลักษณะฐานแคบและลึก ขอบเขตชัด หลุมกล่อง หรือ
- Boxcar scar คือหลุมแผลกว้าง ขอบหลุมเป็นแนวตั้งชัด มีทั้งแบบตื้น และแบบลึก
- Rolling scar คือหลุมแผลโค้ง มีพังผืดเกาะใต้หลุมสิวติดกับชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นแอ่ง ขอบมน
วิธีรักษาหลุมสิว
การรักษาหลุมสิวขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของหลุมสิวที่พบ ซึ่งในบุคคลหนึ่งสามารถพบหลุมสิวได้มากกว่าหนึ่งชนิด การรักษาสามารถทำได้โดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกันเพื่อประสิทธิผลในการรักษาที่มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยเช่น ระยะการพักฟื้นผิว ผลข้างเคียงหลังการรักษา ค่าใช้จ่าย ความคาดหวังของผู้ทำการรักษา เป็นต้น
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม วิธีรักษาหลุมสิวในปัจจุบันมีดังนี้
- การเลาะพังผืด หรือ subcision โดยใช้เข็มตัดเลาะพังผืดที่ดึงรั้งหลุมสิว วิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษาหลุมสิวชนิด rolling scar และ box car หรือแผลเป็นที่มีขอบชัดและมีขนาดลึก โดยอาจใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การฉีดฟีลเลอร์ใต้ผิวบริเวณที่มีการใช้เข็มตัดพังผืดหรือเลเซอร์
- การศัลยกรรมหลุมสิว เช่น การผ่าตัดหลุมสิวออก ซึ่งเหมาะกับหลุมสิวชนิด ice pick หรือแผลเป็นหลุมที่มีปากหลุมขนาดเล็กไม่เกิน 3 มิลลิเมตร หรือการผ่าตัดยกหลุมสิวให้เสมอกับผิวปกติ เช่น หลุมสิวชนิด box car ที่มีขนาดเล็ก
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี เช่น กรดผลไม้ เหมาะสำหรับหลุมสิวขนาดเล็กและตื้น
- การแต้มหลุมสิวด้วยกรดไตรคลอโรอะเซติกขนาดความเข้มข้นสูง ซึ่งได้ผลดีในหลุมสิวชนิดปากหลุมแคบ ice pick แต่ก็สามารถใช้รักษาหลุมสิวชนิดอื่นได้ด้วยเช่นกัน
- การใช้เครื่องมือเลเซอร์ (LASER) เกลี่ยผิว เป็นการทำให้เกิดการบาดเจ็บในชั้นผิวหนัง หลังจากนั้นจะเกิดกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้น ทำให้คอลลาเจนเกิดการจัดเรียงตัวใหม่และส่งผลให้แผลเป็นหลุมสิวตื้นขึ้นมาได้ สามารถแบ่งออกเป็นเลเซอร์ที่ทำให้เกิดแผล และเลเซอร์ชนิดที่ไม่ทำให้เกิดแผล สำหรับการรักษาหลุมสิวชนิด box car และ rolling การรักษาแผลเป็นด้วยการเกลี่ยผิวด้วยเลเซอร์นั้น ต้องใช้การรักษาหลายครั้ง สำหรับระยะห่างในการรักษาในแต่ละครั้ง จะใช้เวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป
- การรักษาด้วยการกรอผิว เป็นการทำให้เกิดแผลที่ผิว และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ให้ผิวมีความสม่ำเสมอ แต่อาจมีผลข้างเคียงในเรื่องของหน้าแดง หรือการไวต่อแสงแดดมากกว่าการรักษาด้วยเลเซอร์ และใช้ระยะเวลาพักฟื้นผิวนานกว่าเลเซอร์รักษาหลุมสิวบางชนิด การรักษาด้วยการกรอผิว สามารถใช้กับหลุมสิวชนิด rolling หรือ box car ได้
- การรักษาด้วยเข็มขนาดเล็ก เป็นการทำให้เกิดแผลขนาดเล็กที่หลุมสิวเพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน วิธีนี้เหมาะกับการรักษาหลุมสิวชนิด rolling และ box car แบบตื้น และอาจจะต้องอาศัยความถี่ในการรักษา
- การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ สามารถใช้รักษาได้ทั้งในหลุมสิวชนิด ice pick box car และ rolling เหมาะกับหลุมที่มีขนาดลึก ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันในแต่ละชนิดของหลุมสิว ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และอาจช่วยลดขนาดรูขุมขนได้
- การรักษาด้วยพลาสมาหรือน้ำเลือดของผู้เข้ารับการรักษา โดยฉีดเข้าไปที่หลุมสิว หรืออาจใช้ร่วมกับการรักษาหลุมสิววิธีอื่น เพื่อให้แผลที่เกิดจากการรักษาหายเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในการรักษาหลุมสิว
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การรักษาหลุมสิวในแต่ละวิธี โดยส่วนใหญ่ต้องทำมากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจน และมีระยะเวลาเห็นผลที่แตกต่างกัน โดยหลุมสิวที่เกิดขึ้นใหม่จะให้ผลการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่าหลุมสิวที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษาหลุมสิวให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้สมบูรณ์ ดังนั้นการรักษาสิวตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการอักเสบอยู่เป็นเวลานาน จะเป็นวิธีป้องกันและลดการเกิดหลุมสิวที่ดีที่สุด