“ซินนามอน” กับประโยชน์ต่อสุขภาพที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก
ทุกครั้งที่รับประทานเมนูพะโล้ หนึ่งในเครื่องเทศที่ต้องใส่ลงไปเพื่อให้เมนูพะโล้มีรสชาติหอมอร่อยเป็นเอกลักษณ์ คือ อบเชย ชื่อภาษาอังกฤษ ซินนามอน (Cinnamon) และชื่อญี่ปุ่น ชินามอน (シナモン) ปัจจุบันนี้ซินนามอนได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเทศเพื่อสุขภาพที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก มารู้ประโยชน์ของซินนามอน วิธีการนำมารับประทานอย่างง่ายและข้อควรระวังในการรับประทานกัน
ประโยชน์ของซินนามอนหรืออบเชย
- มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง
ซินนามอนประกอบไปด้วยสารอนุมูลอิสระชื่อ โพรแอนโทไซยาดิน (Proanthocyanidins) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในบรรดาสารประกอบโพลีฟีนอล ดังนั้นจึงช่วยชะลอความแก่และป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันได้ดี
- ป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย
การอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกายที่ทำให้รู้สึกเมื่อยตัวเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ และอัลไซเมอร์ เป็นต้น ด้วยว่าซินนามอนประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ จึงดีต่อการนำมารับประทานเพื่อบรรเทาและป้องกันการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย
- ช่วยปรับระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายให้ดีขึ้น
จากการทดลองในสัตว์พบว่าซินนามอนมีผลในการลดความดันโลหิตและช่วยป้องกันโรคหัวใจในสัตว์ได้ สำหรับมนุษย์ ซินนามอนมีผลในการคงระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีคือ HDL และ ลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีคือ LDL ซึ่งส่งผลในการช่วยปรับระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายให้ดีขึ้น
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
จากการศึกษาพบว่าการรับประทานซินนามอนเป็นประจำจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งดีต่อผู้ที่มีภาวะโรคเบาหวาน
- ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
ซินนามอนมีสารสำคัญชื่อ ซินนามัลดีไฮด์ (Cinnamaldehyde) ซึ่งช่วยให้หลอดเลือดฝอยแข็งแรง ทำให้การไหลเวียนเลือดดี มีการลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปสู่อวัยวะทั่วร่างกายได้ดี ส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรงและแลดูอ่อนเยาว์
- วิธีการนำมารับประทาน
วิธีการง่ายๆ ที่คนญี่ปุ่นนิยมนำซินนามอนมารับประทานเพื่อสุขภาพคือ นำมาใส่ในกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มชาสมุนไพรอุ่นๆ โดยสามารถใช้ซินนามอนหรืออบเชยทั้งแบบที่เป็นแท่งหรือแบบผงก็ได้ นอกจากนี้ก็นำมาโรยขนมปัง โรยโยเกิร์ต และคลุกเคล้ากับแอปเปิ้ล เป็นต้น
ปริมาณการรับประทานเพื่อให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ด้วยว่าซินนามอนประกอบด้วยสารที่เรียกว่าคูมาริน (Coumarin) ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตับหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นปริมาณที่แนะนำเพื่อให้เป็นประโยชน์และปลอดภัยต่อร่างกาย คือ ผู้ใหญ่น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัมควรรับประทานวันละไม่เกิน 2 กรัม หรือน้อยกว่า 1 ช้อนชา และเด็กที่มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัมควรรับประทานวันละไม่เกิน 0.5 กรัม หลายคนอาจจะกังวลในปริมาณที่รับประทานต่อวัน แต่ด้วยกลิ่นที่ค่อนข้างฉุนของซินนามอน ทำให้การรับประทานซินนามอนได้เกือบ 1 ช้อนชาเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงเป็นการควบคุมปริมาณการรับประทานได้ดี
อบเชยหรือซินนามอนที่ใส่ไปส่วนผสมของเมนูอาหารไทยนอกจากจะเสริมให้รสชาติอาหารหอมอร่อยแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายตามภูมิปัญญาของคนในอดีต ด้วยมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายก็ลองนำอบเชยมารับประทานในชีวิตประจำวันดู แต่ก็ควรระวังไม่รับประทานในปริมาณที่มากเกินไป