5 วิธี เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เสี่ยง “สมาธิสั้น”
เด็กเล็กหลายคนเสี่ยงโรคสมาธิสั้นจากการดูแลที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่ โดยเฉพาะการเลี้ยงดูลูกด้วยการอาศัยตัวช่วยอย่างเทคโนโลยีในโลกดิจิตอล สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
สาเหตุของอาการสมาธิสั้นในเด็ก
อ. พญ.ศศิธร ปรีชาวุฒิเดช แพทย์ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า เทคโนโลยีในการสื่อสารและบันเทิงในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของแสง สี เสียง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นประสาทสัมผัสอยู่ตลอดเวลา เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้เด็กไม่สามารถรอคอย หรือควบคุมตนเองให้มีสมาธิยาวนานได้
พญ. นิดา ลิ้มสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สาเหตุของอาการสมาธิสั้นในเด็ก เกิดจากสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมเรื่องการสมาธิจดจ่อ การยับยั้งชั่งใจและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำงานน้อยกว่าเด็กปกติ เพราะสารสื่อประสาทหลั่งออกมาน้อยกว่าคนปกติ ถ้าเปรียบสมองเป็นรถ สารสื่อประสาทก็เหมือนกับน้ำมัน ถ้าไม่มีน้ำมัน รถก็วิ่งไม่ได้
อาการของเด็กสมาธิสั้น
พญ. นิดา ระบุอาการของเด็กสมาธิสั้นที่สังเกตได้เอาไว้ ดังนี้
อยู่ไม่นิ่ง ซน
- ยุกยิก
- กระสับกระส่าย
- มืออยู่ไม่สุข
- อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขยับตลอด
- นั่งไม่ติดที่ ชอบเดินไปมา
- ชอบวิ่ง ไม่เดิน
- ชอบปีนป่าย เล่นผาดโผน
- เล่นแรง เล่นได้ไม่เหนื่อย
- พูดเก่ง พูดเร็ว
- พูดไม่หยุด พูดไปเรื่อยๆ
หุนหันพลันแล่น
- รอคอยไม่ได้
- คิดอะไรจะทำทันที เหมือนรถไม่มีเบรค
- พูดสวน
- พูดทะลุกลางปล้อง
- ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ
- ถ้าต้องทำอะไรที่ช้าๆ หรือนานๆ จะไม่อยากทำหรือไม่อดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น
ไม่มีสมาธิ
- ทำงานตกหล่น สะเพร่า
- เหม่อลอย
- ขี้ลืม
- ทำของหายบ่อยๆ
- ทำอะไรนานๆ ไม่ได้
- เปลี่ยนกิจกรรมบ่อยๆ
- ทำงานไม่เสร็จ
- วอกแวกง่าย อะไรผ่านก็หันไปมอง
- เหมือนไม่ได้ฟัง เวลามีคนพูดด้วย
5 วิธี เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เสี่ยง “สมาธิสั้น”
อ. พญ.ศศิธร ระบุวิธีป้องกันเด็กสมาธิสั้นเอาไว้ ดังนี้
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูจอโทรทัศน์ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต
- จำกัดเวลาในการใช้สื่อหรือเทคโนโลยีผ่านหน้าจอ
- หากจะใช้สื่อผ่านหน้าจอ ควรเลือกรายการรับชมที่เหมาะสมกับเด็กและพ่อแม่ควรร่วมดูไปพร้อมกับลูก
- พ่อแม่ควรให้เวลากับลูก พาลูกทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกลางแจ้ง อ่านหนังสือ
- พ่อแม่ควรจำกัดเวลาการใช้หน้าจอของตนเองเช่นกัน เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างเพียงพอ
การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก
แพทย์อาจพิจารณาวิธีรักษาตามลักษณะอาการของเด็กแต่ละคน มีตั้งแต่การเริ่มค่อยๆ ปรับพฤติกรรมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คนอื่นพูดมากขึ้น (นั่งหน้าชั้นเรียน ตั้งกฎให้ทำตามง่ายๆ เช่น ต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ก่อนถึงจะทำอีกอย่างต่อได้) รวมถึงการให้คำชมเมื่อเด็กทำได้ถูกต้องและสำเร็จ
นอกจากนี้อาจมีการพิจารณาให้กินยาเพิ่มสมาธิ มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงมากโดยเฉพาะยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น Methylphenidate จะสามารถลดอาการทั้ง 3 ด้านได้ โดยตัวยาเข้าไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้น ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป