8 วิธีลดน้ำหนักขณะนอนหลับ ที่แพทย์ยืนยันว่าทำได้จริง
การนอน เกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนักของเรามากกว่าที่คุณคิด The National Sleep Foundation ของอเมริการะบุว่า วิถีชีวิตชาวเมืองที่ตอนกลางคืนไม่หลับไม่นอน อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างจากแสงไฟตลอดเวลา และชีวิตตอนกลางวันยาวนานกว่าตอนกลางคืนมากๆ อาจรบกวนระบบการทำงานของนาฬิกาชีวิต และกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสะสมของไขมันมากขึ้นได้ด้วย
นายแพทย์ ไมเคิล สเปอร์ตัส ยืนยันว่าบทความในเว็บไซต์ thehealthy.com ที่ระบุถึงกระบวนการทางร่างกายที่ช่วยให้เราลดน้ำหนักได้แม้กระทั่งตอนนอนหลับนั้นทำได้จริง เพียงทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
8 วิธีลดน้ำหนักขณะนอนหลับ
- นอนหลับให้ได้คุณภาพ
จากงานวิจัยที่เปิดเผยในงาน European Congress of Endocrinology เมื่อปี 2017 แนะนำว่าการอดหลับอดนอนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึก “อิ่ม” ออกมาน้อยลง เช่น GLP-1 รวมถึงผลิตฮอร์โมนหิวอย่างฮอร์โมนเกรลินออกมามากขึ้นด้วย หมายความว่าหากคุณรู้สึกเหนื่อย คุณอาจรู้สึกหิว ทำให้กินอาหารมากเกินความจำเป็น ดังนั้นการนอนหลับให้พอจึงสำคัญมากๆ ต่อคนที่กำลังลดน้ำหนักอยู่
- ปรับอากาศให้เย็นขึ้นอีกนิด
การนอนหลับในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นๆ ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น จึงช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes ระบุว่า คนที่นอนในห้องที่อุณหภูมิต่ำกว่า 18-19 องศาเซลเซียส ราว 1 เดือน เพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมากขึ้นถึง 42% และยังเผาผลาญไขมันได้มากขึ้นถึง 10% นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย
- งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน
ขณะที่นอนร่างกายก็เผาผลาญพลังงานเหมือนกัน เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังหลับลึกเข้าสู่โหมด REM แต่หากในช่วงเวลานั้นเราถูกขัดขวางด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ทำให้เรานอนหลับไม่สนิท ช่วง REM ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้น้อย ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานในช่วง REM ได้น้อยลงไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ที่ผสมน้ำตาลอย่างค็อกเทล ที่เข้าไปการเผาผลาญไขมันในร่างกายขณะหลับ โดยเข้าไปชะลอการทำงานของตับที่จริงๆ แล้วต้องเข้าไปขจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย และหยุดการทำงานของร่างกายที่ต้องเปลี่ยนเซลล์ไขมันเป็นคีโตน ขัดขวางกระบวนการเผาผลาญไขมันในที่สุด ดังนั้นจึงควรดื่มแอลกอฮอล์หลังมื้อเย็นเท่านั้น ไม่ควรดื่มก่อนนอน
- ไม่กินมื้อเย็น (มื้อก่อนนอน) มากเกินไป
ไม่เพียงแต่มื้อเย็นเป็นมื้อที่เรามีโอกาสเผาผลาญพลังงานที่ได้จากการกินอาหารได้น้อยที่สุด เพราะใกล้เวลาที่เราจะล้มตัวลงนอนแล้วเท่านั้น แต่เรายังควรกินมื้อเย็นให้น้อยลงเพราะหากกินอาหารมากเกินไป ร่างกายจะพยายามเผาผลาญพลังงานส่วนเกินไปมากกว่าการกำจัดสารพิษหรือเพิ่มพลังให้กับร่างกาย และจะยิ่งแย่เข้าไปกันใหญ่หากอาหารที่กินเข้าไปมากเกินไปนั้นคือ คาร์โบไฮเดรต เพราะหากร่างกายได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป และไม่ได้ใช้ มันก็จะกลับไปสะสมอยู่ในร่างกาย ทำให้อ้วนขึ้น แถมยังรบกวนเวลานอนอีกด้วย
- ไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน
สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ รวมถึงโทรทัศน์ ควรงดใช้ก่อนเข้านอน เพราะแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เข้าไปชะลอร่างกายในการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยให้หลับง่าย
แถมยังทำให้รู้สึกหิว และเพิ่มภาวะดื้ออินซูลินอีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นด้วย
- นอนในห้องที่มืดสนิท
การนอนในห้องที่มีแสงสว่าง อาจรบกวนร่างกายในการผลิตเมลาโทนินด้วยเช่นกัน แต่หาดห้องนอนสว่าง ฮอร์โมนเมลาโทนินผลิตออกมาน้อยลง และทำให้น้ำหนักขึ้นได้ด้วยเหมือนกัน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้เราหลับสบายยิ่งขึ้น และเมื่อเรานอนหลับพักผ่อนเพียงพอ เราก็จะมีสุขภาพดี เผาผลาญพลังงานขณะนอนได้มากขึ้นตามไปด้วย National Sleep Foundation ระบุว่า คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะนอนหลับได้ดียิ่งขึ้นราว 83% ทีเดียว
- ทำ IF
การทำ IF หรือ intermittent fasting คือการอดอาหารเป็นช่วงเวลา ให้ร่างกายได้รู้จักกับความหิวบ้างเป็นบางครั้ง ซึ่งส่งผลดีต่อร่างกายได้มากกว่าการปล่อยให้ร่างกายกินอิ่มอยู่ตลอดเวลา การอดอาหารเป็นระยะช่วยให้เราสามารถเริ่มซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย และทำให้ร่างกายเข้าไปเผาผลาญไขมันได้ง่ายขึ้น