กินอาหารอย่างไร เมื่อเป็น “เบาหวาน”
เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ อาหารการกินของผู้ป่วยเบาหวานจึงสำคัญ และอาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ Sanook Health มีข้อมูลดีๆ จาก ผศ.ดร.ณัติพร นกแก้ว คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากกัน
รู้จัก ค่า Glycemic Index (GI) เพื่อการเลือกอาหาร สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ค่า Glycemic Index (GI) หรือค่าดัชนีน้ำตาล เป็นค่าความเร็วของการดูดซึมน้ำตาลและแป้งเข้าสู่กระแสเลือดหลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือประเภทแป้งและน้ำตาล หากรับประทานอาหารที่มีค่า GI สูง จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว การอ่านค่า GI จึงอาจเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ค่า GI แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- สูง (70-100)
- กลาง (56-69)
- ต่ำ (0-55)
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารที่มีค่า GI ต่ำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และไม่เป็นอันตราย ขณะที่หากรับประทานอาหารที่มีค่า GI สูง จะทำให้น้ำตาลพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการรับประทานจนอาจเกิดอันตรายได้
อาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ ที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
อาหารที่มีค่า GI ต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีปริมาณไฟเบอร์สูง เพราะไฟเบอร์จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลในเลือดและช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องได้เร็ว นอกจากมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้ว ยังไม่ทำให้อ้วนอีกด้วย
อาหารที่มีค่า GI ต่ำ ได้แก่
- ผักผลไม้
- ธัญพืช
- ข้าวกล้อง
- ข้าวไรซ์เบอร์รี่
- พืชตระกูลถั่ว
- กล้วย
- องุ่น
- ลูกแพร์
- เชอร์รี่
- ลูกพีช
- กีวี
- แอปเปิ้ล
- สตรอเบอรี่
- ส้ม
- สาลี่
- ฝรั่ง
- ชมพู่
- แก้วมังกร
- แครอท
- มะเขือเทศ
- ข้าวโพด
- บรอกโคลี
- ดอกกะหล่ำ
เป็นต้น
และยังรวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิดอีกด้วย
อาหารที่มีโปรตีนสูง ก็เป็นอาหารที่มีค่า GI ต่ำเช่นกัน เช่น
- นม
- โยเกิร์ต
- นมถั่วเหลือง
- นมอัลมอนด์
- โปรตีนที่ได้จากถั่ว
- ปลาและเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ น้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอาหารอื่นๆ ที่ได้รับประทานควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน เช่น หากมื้อไหนที่จำเป็นต้องทานอาหารที่มีค่า GI สูง ก็ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ควบคู่ไปด้วย ก็จะสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ในระดับหนึ่ง