รับมือกับ "วัยทอง 2 ขวบ" อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของเจ้าตัวน้อย

รับมือกับ "วัยทอง 2 ขวบ" อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของเจ้าตัวน้อย

รับมือกับ "วัยทอง 2 ขวบ" อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของเจ้าตัวน้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ในช่วงอายุใกล้ 2 ขวบ เด็กจะเริ่มมีอารมณ์ขึ้นลงแบบสุดๆ หรือที่เรียกว่า วัยทอง 2 ขวบ เพราะสมองในด้านของอารมณ์มีการพัฒนามากขึ้น แต่สมองส่วนเหตุผลจะเติบโตช้ากว่า จึงทำให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา

  • พฤติกรรมวัยทองของลูกเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ว่าจะแสดงออกมากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับพื้นอารมณ์ สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดก็คือ การอบรมเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย เพื่อจะได้หาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าเริ่มจะรับมือไม่ไหว ควรพาลูกมาปรึกษาคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง

พญ.อัมพร สันติงามกุล กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า วัยทอง 2 ขวบ หรือ Terrible two เด็กวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และพฤติกรรม อย่างเห็นได้ชัด เด็กมักจะเริ่มมีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่คุณพ่อคุณแม่นั้นคาดเดาได้ยาก เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะพัฒนาความรู้สึกของตนเอง มีความเป็นตัวของตัวเองในการริเริ่มอยากทำอะไรต่างๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของตัวเอง ดังนั้น เด็กจะเกิดความไม่พอใจและแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยพฤติกรรมจะเป็นไปตามสรีรวิทยาของสมอง และในจังหวะที่เด็กอายุประมาณขวบกว่าๆ เป็นช่วงของสมองในด้านของอารมณ์ที่เริ่มจะพัฒนามากขึ้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวลาลูกของเรานั้นมีอารมณ์ มักจะเป็นอารมณ์ที่ขึ้นลงแบบสุดๆ เช่น ดีใจสุด โกรธสุด เสียใจสุด มักจะไม่ค่อยมีเหตุผล เพราะสมองส่วนเหตุผลจะโตช้ากว่าส่วนของอารมณ์ จึงทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าเด็กในวัยนี้อารมณ์จะเด่นชัดมาก เวลาที่เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นจะแสดงออกทางอารมณ์ทันที โดยที่ยังไม่มีเหตุผล

อารมณ์ จะมีผลกระทบหรือติดเป็นนิสัย ตอนเด็กโตขึ้นหรือไม่?

ปัจจัยที่มีผลต่อนิสัยของเด็กมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ คือ ธรรมชาติสร้างเด็กให้เป็นคนที่มีอุปนิสัยอย่างไรหรือ ในทางการแพทย์นั้นจะเรียกส่วนนี้ว่า พื้นอารมณ์ของเด็ก (Temperament) เด็กแต่ละคนจะมีนิสัยแตกต่างกันออกไป แต่พื้นอารมณ์ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูจากคนในครอบครัว

เด็กที่มีนิสัยใจร้อน เอาแต่ใจ ขี้เหวี่ยง แต่ถ้าการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยที่ก้าวร้าว เมื่อโตขึ้นก็จะไม่ได้มีนิสัยที่ใจร้อนจนขีดสุด จะสามารถควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีได้ แต่ในช่วงวัยนี้ที่เด็กใจร้อนหรืออารมณ์เสียง่าย เหวี่ยงวีน เป็นไปตามวัยตามพัฒนาการของสมองที่กล่าวไว้ข้างต้น เด็กบางคนที่มีพื้นฐานนิสัยเป็นคนที่ใจร้อนก็อาจแสดงออกมากกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่จะต้องยิ่งใส่ใจในการปรับพฤติกรรมให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม

วัยทอง 2 ขวบ รับมือได้ด้วยวิธีปรับอารมณ์และพฤติกรรมให้เด็ก

ก่อนที่เด็กจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เขาต้องรู้ก่อนว่าตัวเขาเองนั้นรู้สึกอย่างไร ดังนั้น คุณพ่อและคุณแม่ต้องให้คำจำกัดความของลูกให้ถูก ว่าอารมณ์ที่เขากำลังรู้สึกอยู่นั้นคืออะไร และบอกว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ จะต้องใช้วิธีการบอกสั้นๆ ไม่ต้องยาว แต่ต้องหนักแน่น เช่น “หนูกำลังโกรธอยู่ แต่ว่าหนูขว้างของไม่ได้ และหนูกัดแม่ไม่ได้” เพราะเด็กยังเล็กยังไม่สามารถเข้าใจในภาษามากนัก

ส่วนเด็กบางคนชอบให้คุณพ่อ คุณแม่ปลอบโดยการกอด เพื่อให้อารมณ์นั้นเบาลง ดังนั้น ในตอนที่กอดเขาอยู่นั้นก็อาจจะจับมือของเขาไว้เป็นการบ่งบอกถึงการห้ามไม่ให้เด็ก ปาของใส่ ตี หรือการทำร้ายร่างกายตัวเอง เราจะไม่เบี่ยงเบนให้เด็กไปสนใจอย่างอื่นเพื่อให้หายโกรธ แค่ระวังไม่ให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และพูดกับเด็กสั้นๆ เป็นระยะว่าเมื่อหนูหยุดร้องไห้ แม่ถึงจะคุยด้วย รอเวลาจนเด็กค่อยๆ สงบลง แล้วค่อยพูดคุย เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

ลูกอารมณ์ร้อน ลูกดื้อ เอาแต่ใจ ควรลงโทษหรือไม่

เมื่อลูกมีอารมณ์ที่เหวี่ยงวีน เอาแต่ใจ แต่สุดท้ายบทลงโทษคือการตีลูก นั่นไม่ใช่วิธีที่ดี ดังนั้น ก่อนที่คุณพ่อ คุณแม่ จะควบคุมอารมณ์ของลูกได้ จะต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ก่อน เพราะเด็กในวัยนี้จะเป็นวัยที่ชอบเลียนแบบการกระทำจากคนใกล้ตัว  ซึ่งในครั้งต่อไปเด็กอาจจะใช้การตีคุณพ่อคุณแม่กลับ และในบางครอบครัวจะสั่ง time out โดยแยกให้เด็กอยู่ในห้องคนเดียวเป็นเวลานานๆ ซึ่งอาจจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย มีความเครียดสะสมได้ จึงเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม  

ตัวอย่างวิธีที่ใช้จัดการปัญหาอารมณ์ของลูก เช่น ให้เด็กยืนในพรมที่เป็นสี่เหลี่ยม หรือเป็นพื้นที่จำกัด เพื่อให้เขาได้จัดการกับอารมณ์ของตัวเองก่อนถึงจะออกมาจากพรมนั้นได้ ถ้าเด็กเริ่มรู้สึกหงุดหงิด แล้วเดินออกมา ก็ให้เขากลับเข้าไปใหม่  โดยที่คุณพ่อคุณแม่นั่งอยู่ใกล้ๆ เขา และเมื่อเขาสงบลงจึงค่อยพูดหรือทำกิจกรรมอื่นได้ การทำวิธีในรูปแบบนี้ จะทำให้เด็กนั้นได้ทราบว่าเมื่อเขามีอารมณ์โกรธอีก เขาจะต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองก่อนแล้วจึงจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้

วัยทอง 2 ขวบ นานแค่ไหนที่ลูกจะหายอารมณ์ร้อน?

ลูกจะมีอารมณ์โกรธ เหวี่ยง นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย นั่นคือ ปัจจัยของตัวเด็กและปัจจัยในการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว ว่าจะมีวิธีการเลี้ยงดูลูกไปในทิศทางไหน คุณพ่อคุณแม่ต้องเลี้ยงดูลูกในรูปแบบที่ให้เขาสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ต้องค่อยๆ อธิบายให้เหตุผลกับลูกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขารู้ว่าสิ่งไหนที่ทำได้ สิ่งไหนที่ไม่ควรทำ สิ่งไหนเหมาะสมและสิ่งไหนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเพราะเรากำลังพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ควบคุมการใช้เหตุผล

และเมื่อถึงช่วงเวลาที่เด็กจะต้องเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาลหรือไปอยู่ในสังคมที่มีเด็กคนอื่น มีกิจกรรมกับเพื่อนๆ ครู หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ เด็กก็จะสามารถได้เรียนรู้ในการที่จะอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ว่าเขาจะต้องควบคุมพฤติกรรม ควบคุมอารมณ์ของตัวเองอย่างไร จะสามารถช่วยให้เขาปรับพฤติกรรมและอารมณ์ให้เป็นไปทางที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้การที่ลูกมีพฤติกรรมวัยทอง เป็นธรรมชาติตามวัย แต่จะมีอาการมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับพื้นอารมณ์และสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูของ คุณพ่อ คุณแม่ ว่ามีความใส่ใจในการเฝ้าสังเกตติดตามศึกษาพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกที่จะเกิดขึ้นดีแค่ไหน แต่ถ้ารู้สึกว่าเริ่มจะรับมือไม่ไหว ก็สามารถพาลูกมาปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook