3 พฤติกรรมเสี่ยง "กระเพาะอาหารทะลุ"

3 พฤติกรรมเสี่ยง "กระเพาะอาหารทะลุ"

3 พฤติกรรมเสี่ยง "กระเพาะอาหารทะลุ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจเคยเป็นโรคระบบทางเดินอาหารอย่างโรคกระเพาะกันมาบ้าง แต่เมื่อพูดถึงกระเพาะทะลุ เราอาจจะสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกับโรคกระเพาะหรือเปล่า หรือการปล่อยให้เป็นโรคกระเพาะนานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดกระเพาะทะลุหรือไม่ กระเพาะทะลุอันตรายแค่ไหน และใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้

ทำไม “กระเพาะอาหาร” ถึง “ทะลุ”

อ.พญ.อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ระบุว่า กระเพาะของคนเรามีลักษณะคล้ายกระเพาะหมู คือมีหลายๆ ชั้น โดยปกติเวลาเราเป็นแผลในกระเพาะอาหาร แผลจะอยู่แค่ชั้นตื้นๆ ของผนังกระเพาะอาหาร แต่เมื่อไรที่ผนังกระเพาะทุกชั้นเกิดแผลจนทะลุถึงกัน กลายเป็นรูรั่ว เมื่อนั้นก็จะเกิดภาวะกระเพาะทะลุขึ้นมา น้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะจะไหลผ่านรูนี้ไปสู่ช่องท้อง กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ คนไข้จึงมีอาการปวดท้องรุนแรง และติดเชื้อในกระแสเลือดได้ 

กระเพาะทะลุ อันตรายแค่ไหน

โดยส่วนใหญ่แล้วโรคนี้ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต ยกเว้นคนไข้บางรายที่มาพบหมอช้าเกินไปจนเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้นมา

อาการของโรคกระเพาะทะลุ

ผู้ป่วยจะปวดท้องบริเวณลิ้นปี่อย่างรุนแรง จนทำให้ต้องมาโรงพยาบาลอย่างเฉียบพลัน เพราะไม่สามารถทนอาการปวดท้องได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดท้องในโรคกระเพาะอาหารทั่วไป ที่อย่างมากจะแสบท้อง หรือปวดท้องเล็กน้อย ทั้งนี้ คำว่า “โรคกระเพาะ” ที่เราเรียกกันจนชินปากนั้น จริงๆ แล้วก็คือโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบนั่นเอง

3 พฤติกรรมเสี่ยงโรคกระเพาะทะลุ

  1. ใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน 

การทานยาแก้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ ผลข้างเคียงของยาจะไปลดการสร้างเมือก หรือสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างในกระเพาะ ทำให้กรดในกระเพาะซึ่งปกติเราเอาไว้ย่อยอาหาร กลับไปย่อยผนังกระเพาะของเราเอง ฉะนั้น การกินยาลดกรดจึงควรกินตอนที่ท้องไม่ว่าง เช่น กินหลังอาหารทันที หรืออาจใช้ยาลดกรดป้องกันการเกิดแผลควบคู่กันไปด้วย

  1. ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori 

เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร หรือการสัมผัสน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อที่เราทานอาหารร่วมด้วย โดยทั่วไปเราจะไม่รู้ว่ามีเชื้อหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่อาจไม่ก่อให้เกิดอาการ

  1. ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

บุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลในกระเพาะได้ง่าย แล้วเกิดภาวะกระเพาะทะลุได้

พฤติกรรมที่ไม่ได้เสี่ยงโรคกระเพาะทะลุ

  • กินเผ็ดมากๆ 

เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง อาหารรสเผ็ดอาจกระตุ้นให้เกิดการแสบท้อง แต่ไม่ได้นำไปสู่การเกิดแผลจนทำให้กระเพาะอาหารทะลุ

  • ดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง 

หากเราดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว ทำให้กระเพาะไม่สามารถป้องกันได้ทัน กระเพาะอาหารจึงเกิดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่างก็ไม่ได้ทำให้เกิดกระเพาะทะลุเช่นกัน

  • ดื่มน้ำอัดลม 

น้ำอัดลมมีความเป็นกรดและแก๊ส ดื่มแล้วทำให้อึดอัด ไม่สบายท้อง บางคนอาจกระตุ้นให้มีอาการของกระเพาะอาหารขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดแผลที่ทำให้เกิดกระเพาะทะลุ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะทะลุส่วนใหญ่จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

เพราะฉะนั้น หากเราป้องกันปัจจัยเสี่ยงได้ เราก็จะป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และสามารถหายขาดจากโรคนี้ได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook