“โรคฟันและโรคในช่องปาก” ของ “ผู้สูงอายุ” ที่ควรระวัง
ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดฟันผุบริเวณผิวรากฟันได้มากกว่าช่วงอายุอื่น รวมถึงภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเสื่อมถอยทางร่างกาย หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างและจะต้องรับประทานยาหลายกลุ่ม ซึ่งยาบางกลุ่มจะมีผลต่อการสร้างและการหลั่งของน้ำลาย
หรือภาวะการกลืนผิดปกติ ที่จะเพิ่มโอกาสการสำลักอาหาร สำลักน้ำลาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่สะสมในช่องปากเข้าสู่หลอดลม จนทำให้เกิดการติดเชื้อลงไปสู่ระบบทางเดินหายใจ นำไปสู่ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อที่เกิดจากการสำลักได้
เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันในผู้สูงอายุ จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในช่องปาก และลดโอกาสการสูญเสียฟันในอนาคตได้
“โรคฟันและโรคในช่องปาก” ของ “ผู้สูงอายุ” ที่ควรระวัง
ทพญ.สุธิดา วานิชชานนท์ ทันตแพทย์ คลินิกทันตกรรมผู้สูงอายุและการดูแลผู้ป่วยพิเศษ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึงโรคฟังและโรคในช่องปากที่ผู้สูงอายุควรระวังเอาไว้ ดังนี้
- ฟันผุบริเวณผิวรากฟัน
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาฟันผุบริเวณผิวรากฟันได้มากกว่าวัยอื่นๆ เพราะมักมีปัญหาเหงือกร่นจากพฤติกรรมการแปรงฟันที่แรงเกินไปเป็นเวลานาน หรือเคยเป็นโรคปริทันต์มาก่อน เมื่อเหงือกร่น ผิวรากฟันจะโผล่ จะกลายเป็นตำแหน่งที่มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้มากกว่าปกติ และทำให้เกิดฟันผุได้ง่ายกว่าบริเวณตัวฟัน
หากเกิดฟันผุลึกไปจนถึงรากฟัน อาจไม่สามารถบูรณะฟันได้ หรืออาจเป็นโรคปริทันต์รุนแรงที่ไม่สามารถเก็บฟันเอาไว้ได้ ก็จะต้องถูกถอนไปในที่สุด
หากมีภาวะติดเชื้อในช่องปากร่วมด้วย เช่น เกิดอาการปวด บวม เป็นหนอง การรักษาฟันก็จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
เมื่อมีการสูญเสียฟันเป็นจำนวนมาก ก็จะมีผลต่อระบบการบดเคี้ยว อาจทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด รับประทานอาหารได้น้อยลง การรับสารอาหารก็จะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ เกิดขึ้นตามมาได้
- ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย
ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะเสื่อมถอยทางร่างกาย หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องรับประทานยาหลายกลุ่ม ยาบางกลุ่มอาจมีผลต่อการสร้างและการหลั่งของน้ำลาย เช่น ยาควบคุมความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาที่ใช้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เมื่อน้ำลายน้อย ความสามารถในการชะล้างในช่องปากก็จะน้อยลง รวมถึงผู้สูงอายุอาจทำความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีเท่าเดิม หรือมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อาจจับแปรงสีฟันได้ไม่ถนัด จึงทำให้อาจแปรงฟันได้ไม่ดีหรือไม่ทั่วถึงเท่าเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาฟันผุบริเวณผิวรากฟัน หรือโรคปริทันต์ หรือโรคอื่นๆ ลุกลามรุนแรงมากขึ้นได้
- ภาวะการกลืนผิดปกติ
ภาวะการกลืนผิดปกติ อาจส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการสำลักอาหาร สำลักน้ำลาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียในช่องปากเข้าสู่หลอดลม จนทำให้ติดเชื้อลงไปสู่ระบบทางเดินหายใจ นำไปสู่ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อที่เกิดจากการสำลักได้
ดังนั้น การดูแลสุขภาพฟันและช่องปากของผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยลดการติดเชื้อในช่องปาก และลดโอกาสการสูญเสียฟันในอนาคตได้
โรคฟันและโรคในช่องปาก ส่งผลต่อโรคอื่นๆ
ทพญ.สราพร คูห์ศรีวินิจ ทันตแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า สุขภาพฟันกับโรคทางกายภาพมีความสัมพันธ์กันหลากหลายมาก เช่น
กลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง
มีความสัมพันธ์กับโรคปริทันต์อักเสบ เช่น
หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรังได้
และในทางกลับกัน ผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบ ก็จะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเช่นกัน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคอ้วน
- โรคสมองเสื่อม
เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะสมองเสื่อม ก็จะทำให้เกิดการทำงานของระบบร่างกายไม่ดี โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพช่องปาก จะทำความสะอาดได้ไม่ดี ส่งผลให้เกิดฟันผุได้ง่าย หรือมีโรคปริทันต์อักเสบ
นอกจากนี้ ยาในกลุ่มรักษาโรคกระดูกพรุน หรือโรคมะเร็งบางชนิด อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกขากรรไกรตายได้
ลูกหลานควรหมั่นสอบถามถึงสุขภาพปากและฟันของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเห็นถึงความผิดปกติ ควรรีบพบไปพบทันตแพทย์ประจำตัว หรือทันตแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะต้องสูญเสียฟันไปตลอดกาล และยังอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคอันตรายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นไปด้วย