"ช้า-สั่น-เกร็ง" สัญญาณอันตราย "พาร์กินสัน"
“เดินช้า หยิบของช้า ไม่แสดงสีหน้า อาการสั่น มีปัญหาการเดิน” อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการบ่งชี้ของผู้ป่วยพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน คืออะไร
นายแพทย์วุทธิกรณ์ พันธุ์ประสิทธิ์ อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ และแพทย์ประจำศูนย์ PRINC Recovery Center หรือ PNKG ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ อธิบายถึง โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรคสันนิบาตลูกนก” ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Progressive Neurodegenerative Disease) ที่สร้างสารสื่อประสาท “โดพามีน” ส่งผลให้ระดับของ โดพามีน ในสมองลดลง ทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายทำงานผิดปกติ โรคพาร์กินสันจึงนับเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ จากสถิติพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก มักพบในประชากรที่อายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป หรือมีคนในครอบครัวป่วยเป็น พาร์กินสัน โดยเฉพาะญาติสายตรง แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อาการของโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน แบ่งเป็น 5 ระยะ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่มีอาการสั่น เมื่อมีการหยุดพักหรือไม่มีการเคลื่อนไหวอวัยวะ ไปจนถึงการทรงตัวที่ผิดปกติ โอกาสหกล้มได้ง่าย จนถึงระยะอาการโรคที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อแข็งแกร่งมากขึ้น เคลื่อนไหวไม่ได้เป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถรับประทานอาหารได้
อาการของโรคพาร์กินสัน ได้แก่
- อาการสั่นเคลื่อนไหวช้า
- เดินช้า
- ทำงานช้า
- ลายมือเปลี่ยน
- พูดช้า
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- ข้อยึดติด
- เสียสมดุลการทรงตัว
- ก้าวเดินลำบาก ก้าวสั้นๆ ถี่ๆ
- แสดงความรู้สึกทางสีหน้าไม่ได้ ลักษณะคล้ายสีหน้าไร้อารมณ์
- ท้องผูก
- การรับกลิ่นลดลง
- การนอนผิดปกติ นอนละเมอออกท่าทาง
- มีความผันผวนทางอารมณ์
แนวทางการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน
แนวทางการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน ได้แก่ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย รวมทั้งการเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Brain MRI) ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แต่แตกต่างกันตรงสามารถรักษาให้ขาดหายได้ หรือกลุ่มโรคพาร์กินสันเทียม มักพบในผู้ป่วยที่ใช้ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยารักษาโรคจิตเวช)
สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
สาเหตุของโรคพาร์กินสัน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่
- ปัจจัยทางพันธุกรรม : มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม : การได้รับสารพิษหรือสารเคมีจำพวกโลหะหนัก เช่น แมงกานีส ทองแดง
โดยการสัมผัส การรับประทาน การสูดดม, การอาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม, การได้รับบาดเจ็บทางสมอง
การรักษาโรคพาร์กินสัน
ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานที่สุดได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น
- การรับประทานยา
- การรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก ซึ่งจะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยรายที่อาการของโรค ดำเนินไปสู่ระยะท้ายแล้ว และการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความแข็งแรง และความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- วิธีการรักษาแบบไคโกโดะ (Kaigo-Do) หรือวิธีการฟื้นฟูตามแบบฉบับญี่ปุ่นที่ถูกประยุกต์ใช้ฟื้นฟูผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคพาร์กินสันในประเทศไทย โดยมี “5 หัวใจหลัก” ในการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับ
- น้ำในปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
- การได้ขยับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกทำกิจกรรมเดินวันละ 2 กิโลเมตร
- โภชนาการ ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่นักโภชนาการออกแบบและแนะนำ
- การดูแลเรื่องการขับถ่ายให้เป็นไปตามธรรมชาติ ตลอดจน
- การพิจารณาลดยาโดยแพทย์เมื่อสภาวะร่างกายเข้าสู่เกณฑ์ดี
ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลด้วยวิธีการไคโกโดะ (Kaigo-Do) ซึ่งเป็นวิธีการดูแลแบบฉบับญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยขยับร่างกายเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลอย่างใกล้ชิดในแบบแผนการฟื้นฟูเฉพาะบุคคล (Intensive Personalized Care Plan) ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูร่างกายฟื้นตัวกลับมาเร็วขึ้น และยังป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้ด้วย ถึงแม้จะโรคพาร์กินสันจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คนรอบข้างจึงควรทำความเข้าใจและคอยช่วยดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นขึ้น โดยมีวิธีการเบื้องต้น ดังนี้
- ช่วยและสนับสนุนให้ผู้ป่วยบริหารร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดข้อยึดติด ฝึกการทรงตัว เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุ การล้ม ปัญหาการกลืน การพูด
- ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันจะสามารถทำ กิจกรรมต่างๆ ได้ช้า จึงทำให้มักมีอาการท้องผูก
- นอกเหนือจากการดูแลทางด้านร่างกายแล้ว ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยและคอยดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหานอนไม่หลับ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมี ปัญหาด้านจิตใจ มีความวิตกกังวล และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า จนแยกตัวออกห่างจากสังคม
ที่สำคัญอย่างไรก็ตามยิ่งตรวจเจอเร็ว รักษาเร็ว ผู้ป่วยพาร์กินสันก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า