7 อาการนอนผิดปกติที่ควรทำ Sleep Test

7 อาการนอนผิดปกติที่ควรทำ Sleep Test

7 อาการนอนผิดปกติที่ควรทำ Sleep Test
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การนอนหลับไม่เพียงพอ ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า หรือนอนมากจนเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณร้ายก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว การนอนที่ถูกต้องตามหลักสากล คือการนอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยเหตุนี้ ปัญหาการนอนจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะส่งผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวนแล้ว อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพตามมาได้ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ความดันในปอดสูง โรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากนี้ ภาวะคุณภาพการนอนที่ไม่ปกติ ยังอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการภาวะหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ ที่เมื่อนอนหลับแล้วร่างกายจะเกิดความผิดปกติทางการหายใจ อย่างเช่น มีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือเกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายขาดออกซิเจน จนเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับและอื่นๆ อีกหลายโรค  ปัจจุบันในทางการแพทย์ จึงมีการเลือกใช้วิธี ตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test ซึ่งเป็นการตรวจที่จะบอกถึงการทำงานของร่างกายในระหว่างนอนซึ่งสามารถบอกถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับเพื่อนำไปสู่การดูแลและรักษาได้อย่างถูกต้อง

ขั้นตอนการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้ชำนาญการ ด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยาและเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายให้เราฟังว่า 

Sleep test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อสังเกตการทำงานของร่างกาย และหาสาเหตุของความผิดปกติต่างๆ ในระหว่างการนอนหลับ ด้วยการใช้เครื่องมือเฉพาะที่สามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับร่วมกับการดูแลโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และนักเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนอน โดยในขั้นตอนจะมีการติดอุปกรณ์เฉพาะที่ใช้บันทึกการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ ได้แก่ 

  • ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด 
  • การหายใจเข้าออกทั้งทางจมูกและทางปาก 
  • คลื่นไฟฟ้าสมอง 
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 
  • การขยับของกล้ามเนื้อตา แขน ขาและกราม 
  • บันทึกวิดีโอเพื่อสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ 

โดยส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจ จะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องและตัวตรวจวัดต่างๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที

เมื่อตรวจ Sleep test เสร็จแล้วแพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรง เช่น 

  • การหยุดหายใจขณะหลับ 
  • ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ
  • ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ 
  • นอนแขนขากระตุกขณะหลับ 
  • การละเมอ 
  • ภาวะนอนไม่หลับ 
  • ความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ 

ซึ่งในการตรวจนี้สามารถทราบถึงความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในระหว่างการนอนอื่นๆ ได้ อาทิเช่น นอนกัดฟัน ตลอดจน ภาวะชักขณะหลับ

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

ผู้ที่มีกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจ Sleep test คือ

  • กลุ่มผู้ที่เสี่ยงจะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA)
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน
  • ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะนอนหลับหรือเป็นโรคลมหลับ (narcolepsy)
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

7 อาการนอนผิดปกติที่ควรทำ Sleep Test

ผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ Sleep test สามารถพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ โดยสังเกตอาการผิดปกติดัง ต่อไปนี้

  1. นอนกรน
  2. มีเสียงกรนหยุดเป็นพักๆ พลิกตัวบ่อยๆ
  3. หายใจลำบากและสงสัยว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับ
  4. ง่วงนอนช่วงกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  5. ตื่นเช้าไม่สดชื่น มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อยๆ
  6. มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ  นอนกัดฟัน นอนละเมอ หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ
  7. นอนหลับยาก หรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อยๆ มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 

จากอาการข้างต้น มี แบบทดสอบที่ได้รับการยอมรับในการประเมินความง่วงที่ผิดปกติ ชื่อว่า Epworth sleepiness scale เพื่อประเมินความง่วง ที่อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในการนอนหลับ ซึ่งประกอบด้วยชุดคำถามที่จะช่วยให้สามารถประเมินตัวเองและคนรอบข้างเบื้องต้นได้

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจการนอน (Sleep Test)

การเตรียมตัวก่อนตรวจ Sleep test มีข้อปฏิบัติโดยทั่วไป ดังนี้ 

  1. อาบน้ำชำระล้างร่างกายและสระผมให้สะอาดก่อนเข้าตรวจ โดยห้ามใส่น้ำมันหรือทาครีมใดๆ เพราะอาจรบกวนการติดอุปกรณ์การตรวจ
  2. งดชา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  3. หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่มาตรวจ เพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่ 
  4. จดชื่อและขนาดยา พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่มาด้วย (หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ

ปัจจุบันถือว่าการตรวจ Sleep test เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานสากล (gold standard) ในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น(obstructive sleep apnea; OSA), การกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เพื่อให้แพทย์สามารถนำผลการตรวจไปวางแผน หรือติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการตั้งค่าความดันลมในผู้ที่ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อช่วยเปิดช่องทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ หรือการปรับระดับของเครื่องมือในช่องปาก(oral appliances) ในผู้ที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น รวมทั้งยังใช้พิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจและใช้ติดตามผลการรักษา ตลอดจนช่วยในการวินิจฉัยโรคความผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการนอน และตรวจคุณภาพการนอนได้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook