"น้ำตาเทียม" หรือ "ยาหลอดตา" จากญี่ปุ่น เลือกผิด ตายิ่งแห้ง
นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือหมอแมว แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี จากเฟซบุ๊กเพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว ระบุถึงอันตรายที่อาจมาจากการซื้อน้ำตาเทียมจากญี่ปุ่นใช้เองว่า อาจเผลอซื้อยาหยอดยามาใช้แทน ใช้บ่อยๆ อาจเป็นอันตรายต่อดวงตาได้
- "น้ำตาเทียม" ตัวช่วยของคนตาแห้ง กับข้อควรรู้ในการเลือกใช้ให้เหมาะสม
- วิธีใช้ “น้ำตาเทียม” ให้ถูกต้อง ลดเสี่ยง “ตาแห้ง”
นพ.พิรัตน์ ระบุว่า “ในท้องตลาดจะมีผลิตภัณฑ์หยอดตาจากญี่ปุ่นที่เอามาขายกันแบบออนไลน์
หลายอันจะเขียนว่า น้ำตาเทียม หรือบางครั้งก็เขียนว่า น้ำตาเทียม/ยาหยอดตา บางอันมีสูตรเย็น บอกว่าใช้แล้วตาโล่ง
เมื่อเป็นน้ำตาเทียม ความเข้าใจของคนทั่วไปคือ สามารถหยอดตาได้เรื่อยๆ ไม่มีอะไร ปัญหาคือ บางครั้งของที่เขียนว่าเป็นน้ำตาเทียมมันไม่ใช่น้ำตาเทียม แต่มันเป็นยาหยอดตาในตระกูลยาแก้แพ้ อาจมีบางอันที่มีส่วนผสมของ
- Tetrahydrozoline ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์หดเส้นเลือด ทำให้คนที่กำลังเคืองตาตาแดงอยู่รู้สึกว่าอาการเคืองลดลง
- Cholorpheniramine เป็นยาแก้แพ้
- สารทำให้เย็น ในพวกการบูร เมนทอล เปปเปอร์มินต์
ถ้ามีส่วนผสมของยาที่ลดขนาดหลอดเลือด เวลาใช้ช่วงแรกๆ จะตาโล่งมาก เพราะมันไปลดขนาดหลอดเลือดแดงที่ตา (เวลาตาแดง เรารู้สึกไม่สบายตาเพราะเส้นเลือดที่บวมขึ้น)
แต่ยาในกลุ่มนี้เวลาใช้นานๆ มันจะเริ่มไม่ได้ผล แล้วพอหยุดใช้ปุบปับก็จะเสี่ยงต่อการเกิดอาการตาแดง (จากการหยุดใช้ยา) จนต้องกลับไปใช้ใหม่ หรือไม่ก็ใช้เพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม และหากใช้ไปนานๆ ก็เสี่ยงตาแห้งด้วย
ดังนั้น ก่อนใช้ ดูดีๆ ว่ามันคือน้ำตาเทียมจริงๆหรือยาหยอดตา
อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว ไม่แนะนำให้ซื้ออะไรที่อ่านฉลากไม่ออกมาใช้กับร่างกาย ถ้ากำลังจะกดสั่งซื้อ ขอให้เอาภาพไปค้นในกูเกิล แล้วอ่านส่วนผสม “จากประเทศต้นทาง” จะมั่นใจกว่า