Broken Heart Syndrome หัวใจอ่อนแรง ที่ไม่ได้เกิดจาก “อกหัก”

Broken Heart Syndrome หัวใจอ่อนแรง ที่ไม่ได้เกิดจาก “อกหัก”

Broken Heart Syndrome หัวใจอ่อนแรง ที่ไม่ได้เกิดจาก “อกหัก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเครียดสะสมหรือภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงสามารถทำให้เกิดอาการหัวใจสลาย หรือ Broken Heart Syndrome ได้ เพราะจะส่งผลให้การทำงาน ของหัวใจผิดปกติและตกอยู่ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียดได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรรับมือกับความเครียดและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างถูกวิธี รวมถึงดูแลหัวใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ รพ.หัวใจกรุงเทพนพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ รพ.หัวใจกรุงเทพ

Broken Heart Syndrome คืออะไร

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า Broken Heart Syndrome หรือ Stress Cardiomyopathy เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด ซึ่งค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในชื่อเรียกว่า Takotsubo Cardiomyopathy พบมากในหญิงวัยกลางคน มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากโรคทางกาย (Physical Stress) หรือความเครียดด้านจิตใจ (Mental Stress) ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัวและอ่อนกำลังลงชั่วคราว หัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติโป่งออกรูปร่างคล้ายไหจับปลาหมึกของญี่ปุ่น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้

สาเหตุของ Broken Heart Syndrome

สาเหตุของ Broken Heart Syndrome ความเครียดจากปัญหาต่างๆ อาทิ

  • ความเจ็บป่วยทางการแพทย์
  • การสูญเสียคนรัก
  • การหย่าร้าง
  • ปัญหาการงาน การเงิน
  • ความผิดหวังอย่างรุนแรง
  • อาการบาดเจ็บสาหัส
  • ยาเสพติด
  • ความเครียดสะสมจนทำให้หลอดเลือดหดตัว หัวใจมีการเต้นเร็วผิดจังหวะ เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและล้มเหลวได้
  • เกิดจากฮอร์โมน ซึ่งกลุ่มอาการหรือโรคนี้ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะหมดไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด (Stress Hormone) ในร่างกายได้น้อย จนทำให้เกิด Broken Heart Syndrome ได้

อาการของ Broken Heart Syndrome

อาการ Broken Heart Syndrome ที่สังเกตได้คือ

  • แน่นและเจ็บหน้าอก
  • มีอาการหอบเหนื่อย
  • หายใจลำบาก
  • หน้ามืด
  • ความดันเลือดต่ำ

ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที

วิธีวินิจฉัยภาวะ Broken Heart Syndrome

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยพิจารณาจากอาการ ประวัติความเครียด และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นสำคัญ ประกอบไปด้วย การซักประวัติ ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG) ผู้ป่วยจะมีลักษณะคลื่นหัวใจไฟฟ้าผิดปกติเหมือนกราฟไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน และการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) จะมีลักษณะการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติ ความแรงในการบีบตัวของหัวใจจะลดลง หัวใจห้องล่างซ้ายอ่อนกำลัง และการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography : CAG)

ผู้ป่วยที่มีภาวะ Broken Heart Syndrome จะต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะอาจจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้ วิธีการรักษาหากอาการไม่รุนแรงอายุรแพทย์โรคหัวใจจะให้การรักษาด้วยยา แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงและมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วยอาจต้องมีการใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ และต้องรักษาภาวะเครียดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย

Broken Heart Syndrome จะไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ฉะนั้นไม่ควรเครียดมากจนเกินไป ทำใจให้สบาย พูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อน และคนใกล้ชิดให้มากขึ้น เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและปัญหา อย่าแบกความเครียดไว้คนเดียว ดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ใช้ชีวิตให้มีความสุข ทำในสิ่งที่ชอบ ท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพและหัวใจอย่างสม่ำเสมอ และภาวะนี้เมื่อเป็นแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้จากความเครียด ทางที่ดีที่สุดคือดูแลหัวใจให้เข้มแข็ง ตั้งรับกับทุกปัญหาด้วยความเข้าใจ จัดการความเครียดอย่างถูกวิธี หากมีอาการผิดปกติแนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook