“ครรภ์เป็นพิษ” อันตรายที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมสำหรับต้อนรับสมาชิกใหม่แล้ว การดูแลและบำรุงลูกน้อยระหว่างตั้งครรภ์ นับเป็นหัวใจสำคัญที่คุณแม่และคนรอบข้างต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว จะต้องใส่ใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการดูแลด้านอาหารและโภชนาการ การพักผ่อน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ไม่เพียงจะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทว่ายังเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ ครรภ์เป็นพิษ อีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อความรู้ที่ครบรอบทุกมิติ นพ.ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทาง ด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพผู้หญิง (Women’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช พร้อมนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์มาถ่ายทอดผ่านบทความให้ความรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในการดูแลตนเอง
ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะที่มีความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ทั้งต่อแม่และลูก
ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
หากกล่าวถึงความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ คือ ภาวะที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
- ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Gestational Hypertension) คือ ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เพียงอย่างเดียว ตรวจพบหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
- ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia and Eclampsia) คือ ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตรวจพบหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ อาจเกิดอาการรุนแรงจนชัก และเสียชีวิตได้
- ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง (Chronic Hypertension) คือ โรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือ ตรวจพบก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
- ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ร่วมกับครรภ์เป็นพิษ (Chronic Hypertension with Superimposed Preeclampsia) โดยความดันโลหิตสูงทุกชนิด อาจพัฒนากลายเป็นครรภ์เป็นพิษรุนแรง และอาจส่งผลต่อชีวิตของแม่และลูกได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ
- เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน
- ความดันโลหิตสูงก่อนการตั้งครรภ์
- โรคไต
- โรคเบาหวาน
- โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง เช่น SLE, Antiphospholipid Syndrome
- ครรภ์แฝด
- อ้วน
- ประวัติครอบครัว มีคนเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษ
- อายุมากกว่า 35 ปี
ครรภ์เป็นพิษมีอาการอย่างไร
- ความดันโลหิตสูง > 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- ปวดหัว
- ตามัว
- ปวดท้อง จุกแน่นชายโครงขวา หรือ ใต้ลิ้นปี่
- บวมที่เท้า ขา มือ หน้า
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ
- ปัสสาวะเป็นฟอง
- ตรวจพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
- หอบเหนื่อย
- ชัก
- รกลอกตัวก่อนกำหนด
- ทารกโตช้าในครรภ์
การประเมินความรุนแรง
- ครรภ์เป็นพิษไม่รุนแรง (Preeclampsia without Severe Feature) คือ ความดันโลหิตสูง > 140/90 มิลลิเมตรปรอท ไม่มีอาการรุนแรง และไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- ครรภ์เป็นพิษรุนแรง (Preeclampsia with Severe Feature) คือ ความดันโลหิต > 160/110 มิลลิเมตรปรอท มีอาการรุนแรง ตรวจพบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ การทำงานของไตลดลง หรือไตวาย เม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ น้ำท่วมปอด หากมีอาการรุนแรง ชัก หรือหมดสติ ต้องรีบทำการรักษา เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งแม่และลูก
การตรวจคัดกรองและการป้องกัน
การตรวจคัดกรองสามารถใช้การซักประวัติความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ การเจาะเลือดประเมินความเสี่ยง อัลตราซาวด์ตรวจเส้นเลือดที่มดลูก และพิจารณาให้ยาแอสไพริน ป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษ
การดูแลผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและการรักษา
- ครรภ์เป็นพิษสามารถพยากรณ์การเกิดและป้องกันได้ คุณแม่ไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
- หากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ควรดูแลรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขานั้นๆ อย่างใกล้ชิด ควบคุมโรคให้อยู่ในภาวะสงบ และปรึกษากับแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์
- สังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการที่เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เช่น บวมมาก น้ำหนักขึ้นเร็ว ปวดหัว ตามัว หอบเหนื่อย ให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์
- หากวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษรุนแรง ต้องทำการรักษาโดยการยุติการตั้งครรภ์ เช่น ผ่าตัดคลอด อย่างเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางในการรักษาจากอายุครรภ์ ณ ขณะวินิจฉัยเป็นหลัก จำเป็นต้องให้ยาป้องกันการชักตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึง 24 ชั่วโมงหลังคลอด และให้ยาลดความดันโลหิต
- หากอายุครรภ์ยังก่อนกำหนดมาก ทารกยังไม่สมบูรณ์มากพอ อาจรักษาด้วยการประคับประคอง ควบคุมความดันโลหิต ร่วมกับให้ยากระตุ้นปอดทารก และยุติการตั้งครรภ์เมื่อมีข้อบ่งชี้
- ร่วมดูแลรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ เช่น อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
แม้ว่าภาวะครรภ์เป็นพิษจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การฝากครรภ์ที่ถูกต้อง การตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์แต่ละคน ก็อาจจะช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้