"ซึมเศร้าซ่อนเร้น" ซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ คุณกำลังเป็นอยู่หรือเปล่า
นอกจากโรคซึมเศร้าจะอันตรายและควรรีบรักษาแล้ว การเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวยิ่งอันตรายกว่าเดิม ทางการแพทย์เราอาจเรียกอาการนี้ว่า “ซึมเศร้าซ่อนเร้น”
ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น คืออะไร
นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์ และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า “ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น” (Masked Depression) มักไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจน ผู้ป่วยโรคนี้หลายคนยังรับผิดชอบหน้าที่การงานได้ พูดจาทักทาย ยิ้มแย้มกับคนใกล้ชิดได้เหมือนไม่มีปัญหาอะไร แต่มัก มีความวิตกกังวล ไม่มีความสุข พูดถึงหรือแสดงอาการเจ็บป่วยทางกายให้เห็นบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง คลื่นไส้ แตกต่างจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ตรงที่ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าชัดเจน เช่น เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดกำลังใจ ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ รู้สึกไร้ค่า คิดอยากตาย
อาการที่สังเกตได้ ของผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น
- พูดถึงหรือแสดงอาการเจ็บป่วยทางกายให้เห็นบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง
- ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอาการป่วยทางกายที่เกิดขึ้น แต่หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ค่อยได้ ได้แต่รักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ
- ยังทำงาน เรียน หรือทำกิจกรรมปกติประจำวันได้เหมือนเดิม แต่ประสิทธิภาพด้อยลงเพราะมีความเครียด และความกังวลมากเกินไป ต่างจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อาจมีอาการมากเกินไปจนไม่สามารถเรียนหรือทำงาน หรือรับผิดชอบในสิ่งที่เคยทำได้ดีเหมือนเดิม
- อาจมีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) หมกมุ่นกับการทำให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุด ต้องเรียนได้เกรดดี สอบได้คะแนนดี ทำงานไม่ผิดพลาด ผลงานต้องออกมาน่าพอใจ เพราะลึกๆ ในใจมีความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นคงทางอารมณ์ จึงพยายามเพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับของคนอื่น และหากทำไม่ได้ดั่งใจหวังจะเสียใจ และผิดหวังค่อนข้างรุนแรง ไปจนถึงโทษตัวเอง โกรธตัวเองที่ทำไม่ได้ รวมถึงหงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีความแปรปรวนทางอารมณ์สูง
- อาจมีพฤติกรรมบ้างาน (Workaholic) คือการทุ่มเทในการเรียนหรือทำงานมากเกินไปจนเผลอฝืนร่างกายของตัวเองโดยไม่รู้ตัว กดดันตัวเองว่าต้องทำให้ได้ พยายามอ่านหนังสือหรือนั่งทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำจนลืมใส่ใจสุขภาพตัวเอง
- ในบางราย ความคาดหวังหมกมุ่นเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเครียดสะสมหรือปัญหาการนอนไม่หลับ จนต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เหล้า สุรา ยานอนหลับ หรือสารเสพติด
อันตรายของภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น
ผู้มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นมีสุขภาพจิตไม่แข็งแรง ทำให้ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ความผิดหวังจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงที่เข้ามาในชีวิตจะทำได้ไม่ดี นำไปสู่การป่วยทางจิตใจต่อไป อาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ และหากไม่สามารถปรับตัวได้อีกก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงการฆ่าตัวตายก็เป็นได้
การรักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น
การรักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นอาจมีความยุ่งยากตรงที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนมากมักไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย จะมองหาแต่อาการป่วยทางกายภาพเท่านั้น และเมื่อเห็นว่าร่างกายของตัวเองปกติดี จึงไม่คิดว่าตัวเองกำลังป่วยทางสภาพจิตใจ จึงไม่เข้าพบจิตแพทย์และเก็บปัญหาเครียดสะสม ความไม่มั่นใจในตัวเอง ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ และอื่นๆ เอาไว้กับตัวเอง ดังนั้นก่อนอื่นผู้ป่วยต้องยอมรับตัวเองก่อนว่ากำลังมีปัญหา และเปิดใจเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์
สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น มักไม่มีวิธีการรักษา 1 2 3 4 ที่ตายตัว เพราะอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นจิตแพทย์จึงอาจพิจารณาให้ความรู้ ความเข้าใจ ทำจิตบำบัด บำบัดด้วยวิธีอื่นๆ เข้ามาช่วย เช่น ศิลปะบำบัด ฝึกผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเอง ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต เลือกใช้วิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์กว่าเดิม ไม่ทำร้ายตัวเอง มองเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือในบางรายอาจพิจารณายาแก้อาการซึมเศร้าได้บ้าง
ถ้าหากทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นมากขึ้น สามารถแนะนำ ช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยได้อีกมาก ประชากรที่มีความสุขทางจิตใจก็มีมากขึ้น