รู้จักโรคขี้เต็มท้อง หรือภาวะอุจจาระอุดตัน คนชอบอั้นต้องระวัง
ภาวะที่ในท้องมีอุจจาระจำนวนมากเกินไป จนทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นกับร่างกายมีอยู่จริง และอันตรายด้วย ภาษาชาวบ้านอาจเรียกว่ามี “ขี้เต็มท้อง” หรืออาจหมายถึงภาวะอุจจาระอุดตัน
- "ตุ๊กตา จมาพร" ป่วยโรค "ขี้เต็มท้อง" แชร์ประสบการณ์ละเอียดยิบเป็นวิทยาทาน
- อันตราย! ดื่มน้ำน้อย-ท้องผูกเป็นประจำ เสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”
โรคขี้เต็มท้อง หรือภาวะอุจจาระอุดตัน คืออะไร
โรคขี้เต็มท้อง หรือภาวะอุจจาระอุดตัน คือ ภาวะที่อุจจาระแห้งและอุดตันบริเวณลำไส้ตรง จนไม่สามารถผ่านออกมาได้จนเกิดจากการที่มีปัญหาท้องผูกรุนแรง หรือ ท้องผูกเป็นเวลานาน
กลุ่มเสี่ยงภาวะอุจจาระอุดตัน
กลุ่มเสี่ยงภาวะอุจจาระอุดตัน สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย หากมีพฤติกรรมดังนี้
- กลั้นอุจจาระ ไม่อุจจาระให้เป็นเวลา
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้อุจจาระแข็ง ทำให้ท้องผูก
- รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อยเกินไป
- รับประทานอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน มากเกินไป
- ขาดการออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายด้วย
- เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้สะดวก เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติที่กระดูกสันหลัง หรือผู้ป่วยติดเตียง
- ลำไส้ทำงานผิดปกติ
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด ที่ทำให้ลำไส้ลดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NARCOTICS, ยาลดกรด, ยากลุ่มธาตุเหล็กหรืออยากลุ่ม CALCIUM CHANNEL BLOCKERS ซึ่งใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- โรคประจำตัวส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ ทำให้ขาดการดูแลอาหารการกินที่ดีต่อสุขภาพ
อาการของภาวะอุจจาระอุดตัน
ภาวะอุจจาระอุดตัน มีอาการที่สามารถพบได้หลากหลาย ดังนี้
- ปวดท้องแบบบีบๆ
- เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง
- รู้สึกถึงลมในท้องเยอะผิดปกติ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สบายท้อง
- ท้องผูก ไม่ถ่ายหลายวัน
- อุจจาระก้อนเล็ก แข็ง อาจบาดทวารหนักจนมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
- รู้สึกว่าอุจจาระแล้ว แต่ยังไม่สุด ยังรู้สึกว่ามีอุจจาระเหลืออยู่ในท้อง ไม่โล่งสบายท้องเหมือนหลังอุจจาระตามปกติ
การรักษาภาวะอุจจาระอุดตัน
แพทย์อาจพิจารณาทำการถ่ายท้องให้ผู้ป่วยในหลายๆ วิธี ตั้งแต่การใช้นิ้วมือสอดเข้าไปกวาดอุจจาระออกมาทางทวารหนัก สวนทวารหนัก เหน็บยา หรือ ให้ยาต่างๆ ถ้าอาการหนักมากอาจพิจารณาการผ่าตัด แต่ยังพบได้น้อย
วิธีป้องกันภาวะอุจจาระอุดตัน
- ไม่กลั้นอุจจาระบ่อยๆ หรือไม่ควรกลั้นอุจจาระเลย
- ดื่มน้ำมากๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (จิบน้ำไปเรื่อยๆ ทั้งวัน ไม่ใช่การดื่มน้ำจำนวนมากในครั้งเดียว)
- รับประทานผักผลไม้ ธัญพืชต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
- ลดการรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูงจนเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบขับถ่ายได้
หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น อึดอัดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที