วิธีลดความเสี่ยง "ออฟฟิศซินโดรม" ทำได้ง่ายๆ ที่ทำงาน-บ้าน
ในปัจจุบันลักษณะการทํางานของผู้คนส่วนใหญ่ มักเป็นงานที่นั่งทําอยู่ในออฟฟิศ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือสมาร์ทโฟน เป็นระยะเวลานานๆ รวมถึงปัจจุบันมีการทํางานในลักษณะ Work From Home มากขึ้น ซึ่งบางคนอาจไม่ได้เตรียมสถานที่ โต๊ะ และเก้าอี้ ไว้สําหรับนั่งทํางานเป็นระยะเวลานานๆ ส่งผลกระทบให้เกิดอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อจากการทํางานได้มากขึ้น
โดย นพ.เฉลิมพล ชีวีวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลนวเวช ได้กล่าวถึงรายละเอียดของกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม กลุ่มอาการที่พบมากในคนทำงานออฟฟิศ พร้อมถ่ายทอดข้อมูลอันเป็นประโยชน์ผ่านบทความให้ความรู้ เริ่มตั้งแต่การอธิบายลักษณะอาการ รวมไปจนถึงคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาอาการความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม
“ออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) นับเป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการทํางานอย่างหนึ่ง ในที่นี้คือ กลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในคนที่มีรูปแบบ หรือลักษณะที่ต้องนั่งทํางานในออฟฟิศ ซึ่งกลุ่มอาการส่วนใหญ่ที่พบ จะเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะ คอ บ่า ไหล่ สะบัก และบางรายอาจมีอาการปวดหลังปวดเอวได้ แต่ก็อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากอาการปวดกล้ามเนื้อ แต่พบได้น้อยกว่า เช่น ปวดข้อมือ เอ็นข้อศอกอักเสบ เอ็นข้อมืออักเสบ พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ เป็นต้น
วิธีลดความเสี่ยง หรือบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อจากกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม
- การปรับสภาพแวดล้อม และที่ทํางานให้เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics)
- การจัดโต๊ะทํางานให้เป็นระเบียบ ของที่จำเป็นต้องใช้ จัดอยู่ในระยะเอื้อมของมือทั้งสองข้าง
- โต๊ะและเก้าอี้ทํางานมีความสูงพอดี เก้าอี้ทํางานปรับระดับให้เหมาะสมได้และอาจมีที่ดันหลัง เพื่อให้หลังอยู่ในท่าธรรมชาติมากที่สุดระหว่างนั่งทํางาน
- ปรับจอมอนิเตอร์ให้อยู่ระยะที่เหมาะสม ไม่ไกล หรือใกล้สายตาเกินไป ขอบบนของจออยู่ในระดับสายตาพอดี หน้าจอเอียงรับระดับสายตาประมาณ 7 องศา
- โต๊ะทํางานมีชั้นแยกสําหรับวางแป้นพิมพ์และเมาส์ ในกรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ใช้แป้นพิมพ์ได้อย่างสบายไม่ต้องเกร็งหรือยกไหล่
- แสงสว่างที่โต๊ะทํางานเหมาะสม เพื่อลดการเพ่งของดวงตา
- การปรับพฤติกรรมการทํางานให้เหมาะสม
- ท่านั่งที่เหมาะสม ตัวตรงไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เท้าสองข้างวางแนบพื้น เข่า สะโพก ศอก งอประมาณ 90 องศา หัวไหล่ผ่อนคลาย
- มีช่วงพักเบรกเป็นระยะ ควรพักอย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อพักสายตา ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ รวมทั้งพักยืดกล้ามเนื้อด้วยตนเองเป็นระยะๆ
กรณีที่อาการปวดรบกวนมากจนเป็นอุปสรรคในการทํางาน การรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือทางกายภาพ เช่น การให้ความร้อนผ่านทางเครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเลเซอร์ยืดกล้ามเนื้อ การฝังเข็มลดปวดคลายกล้ามเนื้อ เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทํางาน และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น