เสียง “กร๊อบแกร๊บ” ในเข่า มาจากไหน อันตรายหรือไม่
คำถามยอดฮิตประจำแผนกกระดูกและข้อคือเสียงกร๊อบแกร๊บจากข้อเข่านั้นมาจากไหน หากท่านใดอยากรู้คำอธิบายอย่างละเอียดก็มาตามอ่านกันได้เลย
สาเหตุของการเกิดเสียงกร๊อบแกร๊บในเข่า
-
Air bubble
นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุว่า ฟองอากาศคือสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะฟองอากาศที่เกิดขึ้นในน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าขณะที่มีการขยับของข้อ ความดันที่เพิ่มขึ้นและลดต่ำลงอย่างรวดเร็วในข้อต่อ จะทำให้เกิดฟองอากาศขึ้นภายในข้อเข่า (ซึ่งประกอบไปด้วย ออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์) หลังจากเกิดฟองอากาศแล้วมีการขยับข้อต่อ ฟองอากาศจะพยายามแทรกตัวออกไปที่เยื่อหุ้มข้อต่อด้านนอก จังหวะนี้แหล่ะที่ทำให้เกิดเสียง “กร๊อบแกร๊บ” หรือเรียกว่า “pop sound” ขึ้น ซึ่งการเกิดเสียงกร๊อบแกร๊บในลักษณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นอันตรายแต่จริงๆ แล้วเป็นเสียงที่ปลอดภัยและไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อตัวข้อเข่าเลยแม้แต่น้อย
-
ผิวข้อเข่าสึก หรือเริ่มมีข้อเข่าเสื่อม
กระดูกอ่อนเป็นส่วนสำคัญในข้อเข่า โดยความหนาของกระดูกอ่อนจะคล้ายกับยางรถยนต์ เมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ กระดูกอ่อนก็จะสึกไปเรื่อยๆ เช่นกัน หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่บริเวณข้อเข่า กระดูกอ่อนก็จะได้รับการบาดเจ็บและสึกเร็วกว่าปกติ เปรียบเสมือนยางรถยนต์ที่ถูกตะปูตำนั่นแหละ กระดูกอ่อนที่สึกหรือได้รับการบาดเจ็บนั้นมีโอกาสที่จะผิดปกติ ส่งผลให้เวลาที่เราขยับข้อเข่าเกิดเสียงดัง “กร๊อบแกร๊บ” ขึ้นได้นั่นเอง
-
หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด
หมอนรองข้อเข่าเป็นเนื้อเยื่อที่ช่วยรับแรงกระแทกในข้อเข่า หากมีการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่าไม่ว่าจะเป็นจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือความเสื่อมจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปวดข้อ หรือมีเสียงในขณะที่ขยับข้อเข่าได้ กรณีเกิดหมอนรองข้อเข่าบาดเจ็บเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการดังกล่าวสามารถดีขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหมอนรองข้อเข่าที่ฉีกขาดหรือเสื่อม มีโอกาสจะทำให้เกิดเสียง”กร๊อบแกร๊บ” ขณะที่ขยับข้อเข่าได้นั่นเอง
-
กระดูกข้อเข่าหรือลูกสะบ้าแตกร้าว
สาเหตุนี้วินิจฉัยได้ง่ายมาก เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีประวัติประสบอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกข้อเข่าแตกร้าว บางรายรับการรักษาด้วยการใส่เฝือก บางรายรับการรักษาโดยการผ่าตัด หลังจากที่กระดูกเชื่อมติดกันแล้วมีโอกาสที่จะเกิดเสียง”กร๊อบแกร๊บ” ขึ้นในข้อเข่าได้ เพราะกระดูกอาจไม่เรียบเหมือนเดิม
-
Plica syndrome
การที่มีเนื้อเยื่อในข้อเข่า อาจขัดขวางการขยับหรืองอเหยียดของข้อเข่า โดยเนื้อเยื่อจะอยู่ในสี่ตำแหน่งของข้อเข่า บางคนเนื้อเยื่อตำแหน่งข้อเข่าด้านในจะหนาตัวหรือกว้างกว่าปกติ แทรกเข้าไปในบริเวณใต้ต่อตัวลูกสะบ้า ส่งผลให้เกิดเสียง”กร๊อบแกร๊บ”หรือทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นในขณะที่งอเหยียดเข่าหรือก้าวขึ้นลงบันได
แต่ละสาเหตุของเสียง”กร๊อบแกร๊บ” มีวิธีในการรักษาที่แตกต่างกันไป การวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของเสียงดังกล่าวจึงเป็น”จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด” เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป