10 อาหารโซเดียมสูงปรี๊ด เสี่ยงไตพัง!
หลายคนชอบปรุงอาหารจนติดเป็นนิสัย สั่งก๋วยเตี๋ยวก็สาดน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชู และพริก โดยไม่ได้ชิมก่อนปรุงด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งข้าวกะเพราที่สาดน้ำปลาพริกลงไปไม่ยั้ง ทั้งบนไข่ดาว และบนข้าวด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วในกะเพราแม่ค้าก็ปรุงรสมาให้แล้ว เรากำลังบริโภค “โซเดียม” กันมากเกินความจำเป็นโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งจะส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น จนเป็นสาเหตุของโรคไตวายได้
“โซเดียม” คืออะไร
โซเดียมเป็นสารอาหารที่ช่วยควบคุมความสมดุลของเหลวภายในร่างกาย ช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติ ช่วยในการทำงานของประสาท และกล้ามเนื้อ และยังช่วยดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไต และลำไส้เล็กอีกด้วย
ร่างกายคนเราต้องการ “โซเดียม” เท่าไร
น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม หรือเท่ากับน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะครึ่ง
10 อาหารโซเดียมสูงปรี๊ด เสี่ยงไตพัง!
-
ซอส หรือเครื่องปรุงต่างๆ ที่มีรสเค็ม
เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือแกงซุปก้อน ซุปผง เต้าหู้ยี้ -
ซอส หรือเครื่องปรุงที่มีหลายรส
เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ -
อาหารตากแห้ง
เช่น กุ้งแห้ง ปลาสลิดตากแห้ง ปลาหมึกตากแห้ง หมูแดดเดียว -
อาหารหมักดอง
เช่น ผักกาดดอง ปลาร้า เต้าเจี้ยว -
ขนมขบเคี้ยว
เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ (มักโรยเกลือเพิ่ม) ปลาเส้น สาหร่ายอบกรอบ ขนมปัง เค้ก ซาลาเปา -
อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์ปรุงรส
เช่น หมูหยอง หมูยอ ไส้กรอก แหนม ลูกชิ้น อาหารกระป๋อง -
อาหารสำเร็จรูป
เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ข้าวต้มสำเร็จรูป ข้าวกล่องแช่แข็ง มันฝรั่งแช่แข็ง -
ขนมที่ใส่ผงฟู
เช่น เค้ก ขนมปัง คุกกี้ แพนเค้ก เพราะผงฟูมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ -
น้ำเกลือแร่
เพราะเครื่องดื่มเกลือแร่มักใส่โซเดียม เพื่อทดแทนเกลือแร่จากการสูญเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก -
เนื้อแดง
ปริมาณโซเดียมในเนื้อแดง เช่นเนื้อวัว เนื้อหมู จะมากกว่าเนื้อขาว เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา
ทั้งนี้เราไม่ได้บอกให้ทุกคน “งด” ทานอาหารเหล่านี้นะคะ หากทุกคนยังอยากทาน สามารถทานได้แบบนานๆ ทานที อย่าทานเป็นประจำติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพราะนอกจากจะทำให้สุขภาพไตเสื่อมแล้ว สาวๆ รู้ไว้เลยว่าโซเดียมนี่แหละ ที่ทำให้เราตัวบวม หน้าบวม ไม่สวยนะจะบอกให้ ทานได้แต่ในปริมาณน้อยๆ หากควบคุมปริมาณโซเดียมได้ เราก็สามารถทานได้ทุกวัน ไม่ต้องงดให้ทรมานร่างกายค่ะ
ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก lowsaltthailand.org, myfirstbrain.com, healthtoday.net
ภาพประกอบจาก istockphoto