5 วิธีป้องกัน-ลดปวดท้อง “กระเพาะอาหาร” จากคนญี่ปุ่น
บางครั้งการปวดท้องที่กระเพาะอาหารไม่ได้เกิดจากแผลเรื้อรังจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร แต่อาจเนื่องมาจากความเครียดและการและพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นสาเหตุของการปวดท้อง มารู้วิธีการบรรเทาและป้องกันอาการปวดท้อง และอาหารที่คนญี่ปุ่นแนะนำให้รับประทานเมื่อมีอาการปวดท้องที่กระเพาะอาหารกัน
5 วิธีป้องกัน-ลดปวดท้อง “กระเพาะอาหาร” จากคนญี่ปุ่น
1. ลดความเครียด
การรู้สึกว่าเครียดโดยไม่พยายามผ่อนคลายจะส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามาก ซึ่งน้ำย่อยจะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะไม่มีความเครียดเลย แต่ก็ควรหาวิธีแก้ไขและผ่อนคลายความเครียดด้วยการออกกำลังกายที่เพียงพอ ไปเที่ยวพักผ่อนหรือหางานอดิเรกที่ชอบทำ
2. หลีกเลี่ยงประทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อกระเพาะอาหาร
อาหารที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องได้แก่ อาหารย่อยยากประเภทเนื้อหมูและเนื้อวัว อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารทอด ซึ่งจะคงอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยที่มีสภาพเป็นกรดออกมาในปริมาณมาก อีกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ชาดำ และชาเขียว หากดื่มในปริมาณมากก็จะส่งผลในการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมาในปริมาณที่สูงด้วย นอกจากนี้ก็ไม่ควรรับประทานที่มีรสหวานมากเกินไป เช่น ช็อกโกแลตและเค้ก รวมถึงอาหารที่ทำให้เกิดระคายเคืองของเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร ได้แก่ น้ำผลไม้ประเภทส้มหรือน้ำส้มสายชู และเครื่องเทศรสเผ็ด เป็นต้น
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ระบบประสาทอัตโนมัติทั้งระบบประสาทซิมพาเทติกและพาราซิมพาเทติกจะควบคุมการทำหน้าที่ของกระเพาะอาหาร หากระบบประสาททั้งสองทำงานไม่สมดุลกันจะส่งผลเสียต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร ดังนั้นการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นวิธีการสำคัญเพื่อทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้สมดุลกัน
4. ไม่สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดที่เยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดการหดเกร็งตัวส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไม่ดีและส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอ อีกทั้งการสูบบุหรี่ยังไปเพิ่มการหลั่งของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและทำให้เกิดมีอาการปวดท้องขึ้นมาก และหากไม่หยุดสูบบุหรี่ก็จะส่งผลให้มีอาการปวดท้องเรื้อรัง
5. เลือกกินอาหารที่ช่วนบรรเทาอาการปวดท้องจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร
อาหารที่ดีต่อกระเพาะอาหารในช่วงที่ปวดท้อง คืออาหารที่ย่อยง่าย อุดมไปด้วยโปรตีนและวิตามิน มีเส้นใยอาหารต่ำ มีปริมาณน้ำตาลและไขมันน้อย โดยตัวอย่างอาหารที่ดีต่อกระเพาะอาหารมีดังนี้คือ
- กะหล่ำปลีและหน่อไม้ฝรั่ง อุดมไปด้วยวิตามิน U ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ของเยื่อบุกระเพาะอาหาร และช่วยรักษาแผลที่เกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุของกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
- หัวไชเท้าดิบ อุดมไปด้วยเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยป้องกันอาการปวดท้องและแสบร้อนกลางอกที่มีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อน
- ผักกาดขาว ผักปวยเล้ง แครอท ผักกาดกวางตุ้งญี่ปุ่น กล้วยและน้ำมะเขือเทศ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่เสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
- เต้าหู้ อกไก่ ปลาเนื้อขาวและปลาแซลมอน เป็นแหล่งโปรตีนย่อยง่ายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
- กระเจี๊ยบเขียว อุดมไปด้วยเพคตินซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำ เส้นใยชนิดนี้จะช่วยปกป้องเยื่อบุกระเพาะอาหาร และเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในลำไส้ดี
นอกจากนี้วิธีการเตรียมเพื่อรับประทานที่ถูกวิธีก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้น โดยมีวิธีการดังนี้คือ หั่นให้ละเอียด ใช้การต้มหรือนึ่ง หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปรุงอาหาร และหลีกเลี่ยงรับประทานดิบ เป็นต้น
หากมีอาการปวดท้องที่กระเพาะอาหารก็ลองปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้นดู แต่หากมีอาการปวดเรื้อรังและรุนแรงขึ้นก็ควรไปปรึกษาแพทย์