6 สาเหตุ “กลิ่นปาก” ที่คุณอาจไม่เคยรู้ และวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
แปรงฟันแล้ว ทำไมปากยังเหม็น อาจมีสาเหตุอื่นที่คุณอาจไม่เคยรู้
ทพญ.นุชนาถ โอปิลันธน์ งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคกลิ่นปาก สาเหตุส่วนใหญ่ประมาณ 90 % มาจากภายในช่องปาก เพราะ กลิ่นปาก เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปาก ไปทำการย่อยสลายสารประกอบประเภทโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นขึ้น
6 สาเหตุ “กลิ่นปาก” ที่คุณอาจไม่เคยรู้
- มีฝ้าขาวบนลิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โคนลิ้นด้านใน
- ฟันผุ ยิ่งฟันผุเป็นรูลึก ยิ่งมีกลิ่นเหม็นมาก หรือมีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน
- โรคเหงือกอักเสบ เกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีแผ่นคราบฟันและหินปูนสะสม หากไม่ได้รับการรักษาโรคเหงือกอักเสบก็จะลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงยิ่งขึ้น
- ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ เมื่อมีน้ำลายน้อย เชื้อโรคต่างๆจะตกค้างอยู่ในช่องปากเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดกลิ่นมากขึ้น
- สาเหตุจากระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากการมีน้ำมูกไหลลงคอทางด้านหลังโพรงจมูก และการมีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิล
- สาเหตุจากระบบทางเดินทางอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการมีแบคทีเรียส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งมักจะมีอาการท้องอืด แน่น เรอมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้อาหารบางชนิดเมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น กระเทียม ทุเรียน หัวหอม เครื่องเทศ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลายๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้
วิธีแก้ปัญหากลิ่นปากด้วยตัวเองเบื้องต้น
ทพญ.วธิศรา เกียรติพาณิชย์ แพทย์ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แนะนำวิธีดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อแก้ปัญหากลิ่นปากเอาไว้เบื้องต้น ดังนี้
- หมั่นดูแลทำความสะอาดในช่องปากเป็นประจำ ด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง หรือทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
- แปรงลิ้นทุกครั้งที่แปรงฟัน เพื่อขจัดคราบอาหารที่สะสมอยู่บนลิ้น
- พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจฟันผุ ขูดหินปูน
- ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน
- ทำความสะอาดฟันปลอมหรือรีเทนเนอร์ ด้วยแปรงสีฟันวันละ 2 ครั้ง และทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
- ดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- อย่าปล่อยให้ปากแห้ง และการดื่มน้ำจะช่วยขจัดแบคทีเรียและช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในช่องปาก ช่วยขจัดคราบบนลิ้นและเสมหะในลำคอ ตลอดจนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามร่องของทอนซิล และทำให้มีน้ำลายเพิ่มขึ้น
หากยังมีกลิ่นปากอย่างเรื้อรัง ขอแนะนำให้ไปพบทันตแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ทั้งในเรื่องของโรคประจำตัวและการดูแลอนามัยภายในช่องปากและตรวจเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป