ภาวะหัวใจล้มเหลว กับ 4 สัญญาณอันตราย

ภาวะหัวใจล้มเหลว กับ 4 สัญญาณอันตราย

ภาวะหัวใจล้มเหลว กับ 4 สัญญาณอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แนะผู้ป่วยที่มี ภาวะหัวใจล้มเหลว ปรับพฤติกรรม ดูแลตนเอง ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ป้องกันไม่ให้ภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบมากขึ้น นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หัวใจเป็นอวัยวะในทรวงอก อยู่ระหว่างปอดทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย หากการทำงานของหัวใจผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกายได้ 

ภาวะหัวใจล้มเหลว คืออะไร

ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือที่เรียกว่า Heart Failure คือ ภาวะที่หัวใจอ่อนแรงไม่สามารถสูบฉีดเลือดไป เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างปกติ เนื่องจากหัวใจมีการบีบตัวหรือคลายตัวที่ผิดปกติ บางครั้งหัวใจมีขนาดโตหรือ หนากว่าปกติ 

สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว

สาเหตุที่ทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดได้จาก

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบ 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการหรือบกพร่อง 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • การติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 
  • กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากสารพิษต่างๆ เช่น การดื่มสุรา หรือยาเสพติด 
  • พันธุกรรม 
  • โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน 
  • โรคต่อมไร้ท่อ 

เป็นต้น 

สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบมากยิ่งขึ้น เกิดได้จาก

  • รับประทานอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง 
  • ดื่มน้ำมากเกินไป (มากกว่าที่ปัสสาวะออกจากร่างกาย)
  • รับประทานยาที่ไม่สม่ำเสมอ 
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • รับประทานยากลุ่ม NSAIDS 
  • ไทรอยด์เป็นพิษ 
  • ติดเชื้อในร่างกาย 
  • ภาวะซีดหรือเลือดจาง

อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะมีอาการดังนี้

  1. เหนื่อยง่าย หรือหอบ นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนเพิ่มหรือนั่งหลับ สะดุ้งตื่นมาตอนกลางคืน เพราะอึดอัดหายใจลำบาก 
  2. บวมที่ข้อเท้าและหน้าแข้ง 
  3. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 2 วัน 
  4. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และท้องอืด 

วิธีป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว

ผู้ป่วยควรดูแลและควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบมากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ดังนี้ 

  1. ชั่งน้ำหนักทุกวัน ก่อนทานอาหารเช้าทุกวัน หรือภายหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้วในช่วงเช้า และจดบันทึกน้ำหนักเพื่อช่วยประเมินตนเอง 
  2. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ตามแผนการรักษาของแพทย์ 
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม จำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทานต่อวัน 
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างพอดี อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินทางราบ หากหอบเหนื่อยควรหยุดพักทันที 
  5. งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะสารพิษในบุหรี่จะส่งผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง 
  6. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ 
  7. ตามคำแนะนำของแพทย์ มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 
  8. ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีในกรณีไม่มีข้อห้าม 

ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีป้องกันความรุนแรงของโรค และนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook