7 สัญญาณอันตราย “นอนกรน” เสี่ยงภาวะ “หยุดหายใจขณะนอนหลับ” โดยไม่รู้ตัว

7 สัญญาณอันตราย “นอนกรน” เสี่ยงภาวะ “หยุดหายใจขณะนอนหลับ” โดยไม่รู้ตัว

7 สัญญาณอันตราย “นอนกรน” เสี่ยงภาวะ “หยุดหายใจขณะนอนหลับ” โดยไม่รู้ตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตือนนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ ง่วงนอนมากผิดปกติ ในเวลากลางวัน อย่าละเลย อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับโดยไม่รู้ตัว

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คืออะไร

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการยุบตัวของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ขณะหลับร่างกายจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นช่วงๆ การนอนหลับขาดตอน ส่งผลต่อการทำงานของสมองทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น 

ภาวะนี้สามารถพบได้ในคนทุกวัยโดยผู้ใหญ่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง วัยทองและคนอ้วน และอาจพบในเด็กที่มีต่อมทอนซิลและอดีนอยด์โต มีปัญหาโครงสร้างใบหน้า หรือเด็กที่อ้วน

สัญญาณอันตราย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ 

  1. นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ 
  2. ญาติสังเกต พบหยุดหายใจ หายใจเฮือกเหมือนสำลักน้ำลาย
  3. บางครั้งตื่นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก 
  4. ไม่สดชื่นหลังตื่นนอน ปวดศีรษะตอนเช้า 
  5. ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน 
  6. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย 
  7. วิตกจริตหรือซึมเศร้า 

วิธีรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

สำหรับการรักษาภาวะดังกล่าวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยแบ่งเป็น

  • การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure, CPAP) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ถือเป็นมาตรฐาน
  • การใส่ทันตอุปกรณ์ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมในแต่ละรายซึ่งจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคเล็กน้อยถึง ปานกลาง
  • การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีโครงสร้างทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

วิธีดูแลสุขภาพหลังอยู่ในภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

การปฏิบัติตัวพื้นฐานในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ควรปฏิบัติตนดังนี้ 

  1. คุมอาหารและลดน้ำหนักในรายที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน 
  2. ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ 
  3. หลีกเลี่ยงการนอนหงาย พยายามนอนตะแคงหรือศีรษะสูง 
  4. ไม่ควรรับประทานยานอนหลับและดื่มแอลกอฮอล์ เพราะยาจะกดการหายใจ ทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นมากขึ้น 
  5. ไม่ควรขับรถขณะง่วงนอน เพราะอาจหลับในและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทั้งนี้ หากพบว่ามีสัญญาณเตือนว่าคุณอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อเข้ารับการตรวจ การนอนหลับวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook