5 ความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้การ "ลดน้ำหนัก" ไม่ได้ผล
ห้ามอดมื้อเช้า? ต้องกินให้ครบทุกมื้อ? กินผักผลไม้มากๆ? สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่วิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้องนัก
นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป อธิบายถึงความเชื่อผิดๆ ที่อาจทำให้การลดน้ำหนักไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็นเอาไว้ ดังนี้
5 ความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้การลดน้ำหนักไม่ได้ผล
- ห้ามอดมื้อเช้า
เราอาจเคยเรียนกันมาสมัยเด็กๆ ว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน แต่จริงๆ แล้วมีงานวิจัยมากมายออกมายืนยันว่าการอดมื้อเช้าไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างที่เราเข้าใจกัน นอกจากนี้การที่เราอดมื้อเช้า ทำให้ร่างกายมีช่วงเวลาการอดอาหารที่ยาวนานมากกว่าเดิม ส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการทำ IF หรือ Intermittent Fasting นั่นเอง
-
ต้องกินอาหารให้ครบทุกมื้อ
เช่นเดียวกันกับการอดมื้อเช้า เราไม่จำเป็นต้องกินให้ครบ 3 มื้ออย่างที่เข้าใจกันอีกต่อไป เพราะปัจจุบันก็มีงานวิจัยออกมายืนยันแล้วว่ายิ่งเรารับประทานอาหารบ่อย โอกาสที่ร่างกายจะสะสมไขมันก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แม้จะกินอาหารที่ให้แคลอรี่เท่ากัน กล่าวคือ กินเท่าเดิมแต่บ่อยๆ อ้วนกว่าการกินเท่าเดิมแต่จำนวนมื้อน้อยกว่าต่อวัน
- กินผลไม้ได้เต็มที่
ผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและเหมาะกับคนที่กำลังลดน้ำหนัก แต่ไม่ใช่ผลไม้ทุกชนิดที่จะกินได้ในช่วงลดน้ำหนัก เพราะผลไม้หลายชนิดมีแป้งและน้ำตาลสูง จึงควรหลีกเลี่ยง เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก ลำไย ข้าวโพด กล้วยไข่ ขนุน เงาะ ละมุด ลิ้นจี่ เป็นต้น
-
กินผักเยอะๆ
เช่นเดียวกันกับผลไม้ มีผักหลายชนิดที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมาก บางชนิดมากพอๆ กับการกินข้าวเป็นทัพพีๆ โดยเฉพาะผักจำพวกหัวที่อยู่ใต้พื้นดิน เช่น เผือก มัน มันแกว แห้ว ควรลดการปริมาณการรับประทานผักกลุ่มนี้ลงระหว่างลดน้ำหนัก
- กินอาหารที่มีกากใยอาหารสูงมากๆ
การกินอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยอาหารสูงๆ เป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกายก็จริง แต่อาหารที่มีกากใยอาหารสูงมักมาพร้อมกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืชต่างๆ ดังนั้นแม้ว่าจะเลือกรับประทานอาหารเหล่านี้ซึ่งคิดว่าดีต่อร่างกายแล้ว แต่ก็ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปอยู่ดี