5 มะเร็งยอดฮิตในผู้ชาย-ผู้หญิง ครองแชมป์โรคร้ายคร่าชีวิตคนทั่วโลก
ปัญหาด้านสุขภาพกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเกิดความกังวลเป็นอันดับต้นๆ ในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ทั้งโรคอุบัติเก่าโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น และกลายพันธ์อย่างรวดเร็วไม่เว้นแต่ละวัน จนตามแนวทางการรักษาหรือป้องกันกันไม่ทัน ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ขณะเดียวกันโรคที่ไม่ติดต่ออย่าง “โรคมะเร็ง” ยังคงครองแชมป์โรคร้ายที่สร้างความกังวลกับผู้คนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
ด้วยมีอัตราการเสียชีวิตสูง จากตัวเลขของ wordometers.info ประเมินว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งไปแล้ว 5.12 ล้านคน และซึ่งเมื่อย้อนกลับไปปี 2563 พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 10 ล้านคน จากการประเมินของ Globocan ในการเก็บข้อมูลจาก 185 ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยหากไม่นับอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแล้ว โรคมะเร็งก็ยังคงครองแชมป์สาเหตุคร่าชีวิตประชากรไทยเป็นลำดับต้นๆ มานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังสะท้อนให้ตัวเลขเหตุคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เฉลี่ยสูงถึงวันละ 221 ราย หรือแตะ 80,665 รายต่อปี และเมื่อเจาะลึกลงไปในข้อมูลพบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จากมะเร็งเฉลี่ยถึงวันละ 336 ราย หรือ 122,757 รายต่อปี และกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน เมื่อดารานักแสดงและศิลปิน ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งในปัจจุบันบ่อยขึ้น
นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ข้อมูลว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยมะเร็งในช่วงปีที่ผ่านมาแล้ว กลับพบว่าในแต่ละวันมีคนไทยเป็นผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งนั้นเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่นำพาตนเองเข้าใกล้มะเร็งแบบไม่รู้ตัว เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่จัด และเกิดภาวะความเครียดเป็นประจำ จากความกดดันด้านการงาน การเงิน และครอบครัว สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่าโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกคนมีโอกาสป่วยเป็นมะเร็ง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งอยู่ในระยะลุกลามระดับใด ฉะนั้นการตั้งใจดูแลตัวเองเชิงป้องกันสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และสามารถการดูแลตัวเองเชิงรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะตามระยะของโรคมะเร็งจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญ
5 มะเร็งยอดฮิตในผู้ชาย-ผู้หญิง
มะเร็งที่พบบ่อยสุดในคนไทย แบ่งเป็น มะเร็งในผู้ชายพบ เฉลี่ย169.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ติดอันดับที่ 15 ของเอเชีย โดย 5 อันดับแรกของมะเร็งในเพศชายคือ
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ขณะที่มะเร็งในผู้หญิง จากสถิติพบป่วยเป็นมะเร็ง 151 คนต่อประชากร 1 แสนคน อยู่ในอันดับ 18 ของเอเชีย โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งปอด
วิธีป้องกันโรคมะเร็ง
พุทธภาษิตที่ว่า "อโรคยา ปรมา ลาภา” หรือ “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ" ยังคงเป็นประโยคที่เป็นจริงมาจนถึงปัจจุบัน เพราะคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ฉะนั้นทุกคนสามารถเริ่มปรับพฤติกรรม โดยคำนึงถึงการป้องกัน ให้ห่างไกลโรคมะเร็งด้วย 4 ข้อ ได้แก่
- ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งสำคัญ ลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการต่อสู้กับมะเร็ง
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น ครั้งละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็ง เต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสารเคมีอันตราย สารจำพวก ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันเบนซินนั้นเต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายที่เกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็ง เป็นต้น
สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง
นอกเหนือจากการป้องกันแล้ว การดูแลตนเอง หมั่นค่อยสังเกตความผิดปกติของร่างกายถือเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ควรหมั่นตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกายด้วยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นตัวช่วยส่งสัญญาณล่วงหน้าของโรคมะเร็ง เพื่อให้เราสามารถตั้งหลักรับมือกับมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ได้แก่
- ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ย่อยยาก หรือขับถ่ายยากเป็นเวลานาน เช่น ท้องผูก
- มีเลือดออกผิดปกติ เช่น ทางช่องคลอดหรือเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ
- มีแผลเรื้อรังไม่หายใน 3 สัปดาห์
- มีก้อนที่เต้านมหรือตามตัว ไฝโตขึ้น หรือเปลี่ยนสี
- ไอเรื้อรังหรือเสียงแหบ
- ร่างกายทรุดโทรม น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
- ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง หรือหูอื้อเรื้อรัง เป็นต้น
การตรวจจับสัญญาณเหล่านี้ ช่วยให้สามารถวิเคราะห์การรักษามะเร็ง รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้เป็นปกติได้มากขึ้น