วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มต้นด้วยตนเอง
มะเร็งเต้านม พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงในประเทศไทยและทั่วโลก และพบมากที่สุดในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยอาการที่แสดงถึงมะเร็งเต้านมได้แก่ คลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋มผิดรูป ผิวหนังเป็นลักษณะผิวส้มหรือถูกดึงรั้ง มีสารคัดหลั่งไหลออกจากหัวนม หัวนมมีผื่นแดง เต้านมมีแผล ดังนั้น การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อให้คุ้นชินกับลักษณะเต้านมเดิม จะทำให้เมื่อไรที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ จะสามารถมาพบแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
แพทย์หญิง ตรีทิพย์ เกิดสินธ์ชัย แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมเต้านม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุว่า การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรเริ่มทำตั้งแต่อายุ 20 ปี ทำอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงประมาณ 7-10 วัน หลังเริ่มมีประจำเดือนวันแรกเพื่อให้พ้นช่วงที่เนื้อเต้านมแน่นซึ่งอาจจะทำให้ยากต่อการคลำ แต่ในกรณีผู้ที่หมดประจำเดือนแล้วให้กำหนดวันที่ตรวจให้ประมาณตรงกันในทุกเดือน เช่นสัปดาห์แรกของทุกเดือนหรือ วันที่สัปดาห์สุดท้ายของทุกเดือน
วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง มีขั้นตอนดังนี้
- การดู เพื่อสังเกตความผิดปกติของลักษณะภายนอกว่ามีหัวนมบุ๋มผิดรูป ผิวหนังเป็นผิวส้มหรือถูกดึงรั้ง หัวนมมีผื่น มีแผลที่เต้านมหรือไม่ โดยการยืนตรงมือเท้าเอวสองข้าง สังเกตความผิดปกติเทียบกันทั้งสองข้าง และจากนั้นยกมือขึ้นและดูความผิดปกติเทียบกันทั้งสองข้างอีกครั้ง
- การคลำ เพื่อหาก้อนหรือส่วนที่เต้านมนูนผิดรูป สามารถทำได้ทั้ง 3 ท่า ท่าใดท่าหนึ่ง ทั้งท่ายืน (แนะนำให้ทำในขณะที่อาบน้ำ) นั่ง หรือนอน โดยยกมือข้างที่จะถูกคลำขึ้น เช่น หากจะคลำเต้านมซ้าย ให้ยกแขนซ้ายขึ้นเหนือศีรษะและใช้มือขวาคลำเต้านมซ้าย โดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้งนิ้ว คลำให้ทั่วพื้นที่ของเต้านม ซึ่งสามารถคลำได้ 3 แนวคือ
2.1 คลำวนเป็นวงกลมรูปก้นหอย เริ่มตั้งแต่ไหปลาร้า จนถึงข้างลำตัว ใต้ราวนมและกลางอก วนเข้ามาจนถึงลานนม โดยไม่ต้องบีบหรือเค้นหัวนม
2.2 คลำในแนวขึ้นลง เริ่มคลำจากไหปลาร้าลงมาจนถึงใต้ราวนม ขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
2.3 คลำเข้าสู่ศูนย์กลาง เริ่มคลำจากไหปลาร้าคลำลูบเข้ามาที่ลานนม ด้านข้างลำตัวเข้าสู้ลานนม ใต้ราวนมสู่ลานนม และกลางหน้าอกสู่ลานนม และคลำลานนมเป็นลำดับสุดท้าย โดยไม่ต้องบีบหรือเค้นหัวนม
หลังจากนั้นคลำรักแร้โดยการหุบแขนข้างที่ถูกตรวจลง ใช้มือข้างเดิมคลำที่ใต้รักแร้และลำตัวข้างรักแร้ในท่าหุบแขนเพื่อดูว่ามีก้อนที่รักแร้หรือไม่ และทำอีกข้างสลับกัน
ข้อควรระวังในการคลำเต้านม คือ
การคลำเต้านมควรใช้วิธีลูบ ไม่ควรคลำโดยการบีบเนื้อเต้านมซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจว่าเนื้อเต้านมบริเวณที่ขรุขระเป็นก้อนที่เต้านมได้ และไม่ควรบีบเค้นที่หัวนมหรือลานนมเพื่อดูสารคัดหลั่ง
แม้ว่าโรคมะเร็งเต้านม จะเป็นสาเหตุเสียชีวิตของหญิงไทยเป็นอันดับต้นๆ แต่หากพบตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาหายขาดได้ ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และควรทำอย่างสม่ำเสมอ หากพบความปกติก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาและตรวจหาสาเหตุทันท่วงที