หอบหืดจากภูมิแพ้ โรคเรื้อรังที่ต้องรีบรักษา
รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคหอบหืด หรือโรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย ประมาณร้อยละ 10-15 ของประชากร พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากการสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคนี้เกิดจากเยื่อบุหลอดลมมีความไวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะตอนกลางคืน ตอนเช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นไข้หวัด สาเหตุเชื่อว่า เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
อาการของโรคหอบหืดจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ ทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ เด็กอาจเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ หรือมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้ นอกจากนั้นการที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน การให้การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วย
ผู้ป่วยโรคหอบหืด มักพบว่ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วยถึงร้อยละ 50-85 เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจมูกมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ควบคุมอาการของโรคจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย
การรักษาโรคหอบหืด มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอน คือ
1. การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ หรือกระตุ้นทำให้เกิดอาการ
เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการ นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ หรือสารกระตุ้นให้เกิดอาการที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด และควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่างๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่าง ที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันธูป กลิ่นฉุนหรือแรง อากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป, การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการอดนอน การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคหอบหืดแท้ที่จริงแล้วเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการนั่นเอง
2. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยารับประทาน ยาสูด หรือพ่นคอ เพื่อปรับความไวของหลอดลม หรือช่วยขยายหลอดลม ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก แต่ยาเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเอง ออกกำลังกายและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของจมูก เช่น มีการอักเสบของโพรงจมูก (เช่นเป็นหวัด) หรือไซนัส ควรให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคหอบหืดแย่ลงได้
3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหอบ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย เช่น มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
โดยสรุป….. โรคหอบหืดนั้น สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง >> 10 อย่างที่ผู้ป่วย “หอบหืด” ทำไม่ได้
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto