10 สัญญาณอาการโรค "ตื่นตระหนก" (Panic Disorder)
คุณเคยตื่นเต้น วิตกกังวลจนควบคุมร่างกายตัวเองไม่ได้ คุณอาจเสี่ยงโรคตื่นตระหนก โรคทางจิตที่มีหลายคนกำลังประสบปัญหาอยู่
รู้จักโรค "ตื่นตระหนก" (Panic Disorder)
จิตแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า โรคตื่นตระหนก หรือโรคแพนิก (Panic Disorder) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่มีความวิตกกังวลสุดขีด หรือมีความกลัว ความอึดอัด ไม่สบายอย่างรุนแรง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและถึงขีดสูงสุดในเวลา 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง อาการมักหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการหายผู้ป่วยมักเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการแพนิก ผู้ป่วยจะกลัวว่าจะเป็นอีก
อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ทำให้ความสามารถในการประกอบอาชีพลดลง และความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ตึงเครียดมากขึ้น ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือ โรคร้ายแรง เวียนไปพบแพทย์บ่อยๆ ซึ่งการตรวจร่างกายและการทดสอบพิเศษจะไม่พบความผิดปกติ
สาเหตุของโรคตื่นตระหนก
- สาเหตุทางด้านร่างกาย มีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนควบคุมความกลัว ซึ่งเป็นความผิดปกติของสารสื่อนำประสาทบางอย่าง
- สาเหตุทางกรรมพันธุ์ โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน
- สาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น ความตึงเครียดในชีวิต ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง
- สาเหตุจากโรคทางอายุรกรรม หรือสารยาบางตัว
10 สัญญาณอาการโรคตื่นตระหนก
- หายใจไม่อิ่ม หายใจตื้น รู้สึกอึดอัด หรือสำลักเหมือนมีก้อนจุกที่คอ
- ใจสั่น ใจเต็นเร็ว ใจหายวาบ
- เจ็บหน้าอก แน่นอก
- ตัวสั่น มือสั่น เหงื่อแตก หนาวๆ ร้อนๆ
- คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน
- วิงเวียน โคลงเคลง
- ชาตามร่างกาย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวจนเหมือนควบคุมตนเองไม่ได้
- รู้สึกว่าส่วนต่างๆ ในร่างกายของตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนไป ไม่เหมือนจริง
- กลัวจะเป็นบ้า กลัวว่าจะตาย
อาการข้างต้นนั้นสามารถเกิดที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งคาดเดาได้ยาก แต่ผู้ป่วยมักพยายามสังเกต และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงและรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง
ใครที่เคยมีอาการดังกล่าว สามารถทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงโรคตื่นตระหนกได้ที่ เว็บไซต์โรงพยาบาลมนารมย์
วิธีรักษาโรคตื่นตระหนก
โรคตื่นตระหนก หรือโรคแพนิกสามารถรักษาให้หายได้และไม่อันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือ การรักษาด้วยยา ซึ่งควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ถึงแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการของการหยุดยาหรือมีอาการเก่ากำเริบ อีกวิธีหนึ่ง คือ การดูแลทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นการรักษาแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการแพนิกร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การฝึกผ่อนคลาย การฝึกหายใจ และการเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัว อาการต่างๆ จะดีขึ้น และหายไปเอง
วิธีช่วยเหลือผู้ที่มีอาการตื่นตระหนก
หากมีคนใกล้ชิดที่มีอาการของโรคตื่นตระหนกที่มีอาการกำเริบ สามารถให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยมีอาการได้ ดังนี้
- ตั้งสติ และประเมินสถานการณ์ของอาการผู้ป่วยที่เกิดขึ้นว่าหนักเบามากแค่ไหน รับมือได้หรือไม่ สอบถามผู้ป่วยว่าเคยมีอาการอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้หรือไม่ ถ้าเคย ต้องทำอย่างไรถึงจะหาย เช่น พาหลบไปในที่ที่ไม่มีคน ที่เงียบๆ เป็นต้น
- รับฟังผู้ป่วยโดยไม่ตัดสิน หลีกเลี่ยงคำพูดที่เป็นการดูถูกหรือตัดสินเขา เช่น “แค่เครียด..ไม่ตายหรอกน่า” หรือ “สงบสติอารมณ์บ้างสิ”
- ให้ความมั่นใจว่าเขาจะปลอดภัย ให้กำลังใจในทางบวก แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าควรพูดว่าอะไร สามารถนั่งฟังเงียบๆ โดยไม่ต้องพูดอะไรก็ได้ อาการของผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้นตามเวลาเอง
- แนะนำให้ผู้ป่วยหายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางปากช้าๆ ในลักษณะห่อปากเพื่อเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ให้นานขึ้น เนื่องจากผู้มีภาวะแพนิกมักหายใจเร็วและตื้น ทำให้ได้รับออกซิเจนมากเกินไปจึงต้องทำให้ร่างกายเกิดภาวะสมดุลโดยการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์
- หากผู้ป่วยมีอาการครั้งแรกหรือไม่เคยพบแพทย์มาก่อน ควรแนะนำให้เขาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง