วิธีฝึกหายใจ ลดอาการแพนิก-ตื่นตระหนก
อาการตื่นตระหนก สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มีตั้งแต่อาการอ่อนๆ ที่เราสามารถควบคุมได้อยู่บ้าง กับมีอาการหนักจนควบคุมไม่ได้ และต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์
แต่ในสถานการณ์คับขัน เช่น สัมภาษณ์งาน สัมภาษณ์เรียนต่อ รายงานหน้าชั้น นำเสนองานต่อหน้าหัวหน้าหรือลูกค้า รวมไปถึงการขึ้นไปพูดหรือแสดงต่อหน้าหลายๆ คน อาจสร้างความตื่นเต้นให้กับคุณจนทำอะไรไม่ถูก มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อแตก ไปจนถึงใจสั่น เวียนหัว หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้อย่างเต็มที่ หากเกิดอาการดังกล่าว สามารถลองฝึกหายใจในแบบที่ใช้กับผู้ป่วยโรคแพนิกหรือโรคตื่นตระหนกได้
วิธีฝึกหายใจ ลดอาการแพนิก-ตื่นตระหนก
โรงพยาบาลมนารมย์ แนะนำวิธีฝึกหายใจเพื่อฝึกควบควบคุมลมหายใจ เพื่อช่วยให้อาการแพนิกหรือตื่นตระหนกดีขึ้น โดยใช้เวลาในการทำครั้งละ 10-15 นาที ดังนี้
- นอนหงายตามสบายบนเตียงหรือพื้นที่ในบริเวณที่สงบ ปิดตา ทำจิตใจให้สบายๆ
- มือทั้งสองประสานวางอยู่บนหน้าท้อง ไม่เกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออกและหัวไหล่ ให้ทุกส่วนของร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย
- สูดลมหายใจเข้าช้าๆ รับรู้การเคลื่อนไหวของลมหายใจผ่านรูจมูกเข้าไปลึกจนหน้าท้องขยายขึ้น รู้สึกได้จากการที่มือทั้งสองถูกยกขึ้นช้าๆ
- เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้ว เก็บลมหายใจ ไว้ชั่วครู่
- ผ่อนลมหายใจออกยาวๆ รับรู้การเคลื่อนไหวของลมหายใจออกผ่านรูจมูกจนหน้าท้องแฟบลง มือทั้งสองลดต่ำลง
- เมื่อชำนาญ อาจนั่งพิงเก้าอี้ตามสบาย มือทั้งสองประสานไว้ที่หน้าขาหรือหน้าท้อง แล้วทำตามขั้นตอนเหมือนท่านอนหงาย
สามารถฝึกหายใจแบบนี้ได้เรื่อยๆ ทุกวัน เพื่อเป็นการฝึกควบคุมการหายใจ และจะทำให้อาการตื่นตระหนกดีขึ้นได้