สาเหตุของ "อุจจาระตกค้าง" และวิธีป้องกัน
Highlight
- ภาวะอุจจาระตกค้าง สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีหรืออุจจาระทุกวันแต่อุจจาระไม่หมด โดยอาจเกิดจากการเบ่งถ่ายผิดวิธีหรืออาจเกิดจากพฤติกรรมการกลั้นอุจจาระ
- อุจจาระตกค้าง หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน จนกลายเป็นอุจจาระที่ติดแน่นสะสม ส่งผลให้มีภาวะท้องผูกที่รุนแรงขึ้น แน่นท้อง รู้สึกมีลมจำนวนมาก คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ตลอดจนหายใจติดขัด
- การรับประทานยาระบายอาจส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้ติดยา หรือลำไส้ดื้อยา และต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาระบายเรื่อยๆ จนกระทั่งใช้เท่าไหร่ก็ถ่ายไม่ออก
ปัญหาเรื่องการขับถ่ายไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย และอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอันตรายอย่างมะเร็งลำไส้ หากละเลยไม่ใส่ใจก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
อุจจาระตกค้าง อาจเริ่มต้นจากอาการท้องผูก
ด้วยเศรษฐกิจ อาหารการกิน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาท้องผูก (Constipation) ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 30 ของประชาชนทั่วไป และมักพบในผู้สูงอายุ รวมถึงพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า
สำหรับภาวะท้องผูกทางการแพทย์นั้น หมายถึง ภาวะที่ขับถ่ายยาก อาจต้องใช้เวลาเบ่งถ่ายเป็นเวลานาน จำนวนการขับถ่ายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง การขับถ่ายแต่ละครั้งได้ไม่มาก มีลักษณะเป็นเม็ดแข็ง รู้สึกอึดอัดแน่นท้องเหมือนถ่ายไม่สุด
ทั้งนี้ หากมีอาการท้องผูกนานกว่า 3 เดือน หรือพบว่ามีอาการท้องผูกร่วมกับอาการเตือนอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา เนื่องจากถึงแม้ภาวะท้องผูกจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเริ่มมีอาการท้องผูกเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี
นอกจากภาวะท้องผูกแล้ว ปัญหาการขับถ่ายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย หรือแม้แต่คนที่สุขภาพดีก็ตาม คือภาวะอุจจาระตกค้าง
ทำความรู้จักภาวะอุจจาระตกค้าง
นพ. อนุพงศ์ ตั้งอรุณสันติ แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหาร ชำนาญเฉพาะด้าน โรคกรดไหลย้อน และท้องผูก โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า อุจจาระตกค้าง เป็นภาวะที่ขับถ่ายอุจจาระออกไม่หมดทำให้มีการตกค้างอยู่ภายในลำไส้ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานจนอุจจาระเกาะติดแน่น เมื่อมีอุจจาระใหม่ก็จะไม่สามารถขับอุจจาระเก่าออกไปได้ กลายเป็นอุจจาระที่แข็งติดแน่นสะสมไม่สามารถออกไปจากลำไส้ได้ ส่งผลให้มีอาการท้องผูกรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หายใจติดขัด แน่นท้อง รู้สึกมีลมจำนวนมาก
สาเหตุของภาวะอุจจาระตกค้าง
ภาวะอุจจาระตกค้าง สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีหรืออุจจาระทุกวัน โดยมีสาเหตุ ดังนี้
- การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี เช่น การเบ่งถ่ายขณะหายใจเข้าแล้วแขม่วท้อง
- การกลั้นอุจจาระ ผู้ป่วยอาจปวดอุจจาระในระหว่างการเดินทาง ระหว่างการประชุม หรือสถานการณ์ต่างๆ จนต้องกลั้นอุจจาระไว้ไม่สามารถเข้าห้องน้ำขณะรู้สึกปวดได้
- ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เคลื่อนไหวน้อย
- รับประทานอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อแดง หรืออาหารที่ย่อยยาก ไม่มีกากใย รวมถึงอาหารที่ทำให้เกิดอาการอืดแน่นท้อง
- ขาดการออกกำลังกาย
- ดื่มน้ำน้อย
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบ่อย จนลำไส้เป็นพังผืด มีซอกหลืบให้อุจจาระไปตกค้าง
อาการของภาวะอุจจาระตกค้าง
หากอุจจาระตกค้างจำนวนมากและปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายมากมาย ดังนี้
- ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ต้องใช้แรงในการเบ่งอุจจาระอย่างมาก
- รู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด หรืออุจจาระไม่หมดท้อง
- มีเลือดปนอุจจาระ
- ปัสสาวะบ่อยจากการที่กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ
- ปวดหลังส่วนล่าง
- หายใจติดขัด หายใจได้ครึ่งเดียว ต้องหายใจลึกๆ ตลอดเวลา
- รับประทานอาหารได้น้อยมาก เบื่ออาหาร
- ขมคอ เรอเปรี้ยว และผายลมตลอดทั้งวัน
- อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
วิธีป้องกันภาวะ "อุจจาระตกค้าง"
- ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน ประมาณ 5-7 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด
- ฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างถูกวิธี โดยนั่งบนโถชักโครกแล้วโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย กรณีที่เท้าเหยียบไม่ถึงพื้นหรือเป็นเด็ก ควรมีที่วางเท้า เพื่อออกแรงเบ่งอุจจาระได้ดีขึ้น
- สำหรับคนที่ขับถ่ายยาก วิธีถ่ายให้หมดท้อง อาจใช้มือกดท้องด้านซ้ายล่างขณะขับถ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
- ลดอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ
- ดื่มน้ำให้พอเพียง
- ไม่กลั้นอุจจาระเด็ดขาด ควรขับถ่ายทันทีที่ปวด
- หากยังไม่ปวดอุจจาระแต่จำเป็นต้องออกนอกบ้าน ไม่ควรพยายามเบ่งขณะที่ยังไม่ปวด เนื่องจากการเบ่งอุจจาระแรงๆ เป็นการกระตุ้นและเพิ่มแรงดันในลำไส้ หากทำบ่อยๆ อาจทำให้ลำไส้โป่งพอง เกิดริดสีดวงทวารได้
- กรณีมีภาวะท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกเพิ่ม เช่น นมเปรี้ยว ชาหมัก
- ฝึกหายใจให้ถูกวิธี โดยหายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ
- ไม่ควรเกร็งขณะเบ่งถ่าย
- ลุกขึ้นขยับร่างกายหลังรับประทานอาหาร เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้บีบตัว และกระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ดีขึ้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
การรักษาภาวะอุจจาระตกค้าง
หลังการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เช่น สวนทวารหนัก เหน็บยา หรือให้ยาระบาย กรณีพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อนำอุจจาระออกมาจากลำไส้ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาระบายมารับประทานเองเด็ดขาด เนื่องจากการรับประทานยาระบายบางประเภทอาจส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้ติดยา หรือลำไส้ดื้อยา และต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาระบายขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งใช้เท่าไหร่ก็ถ่ายไม่ออก ซึ่งเป็นข้อเสียของการใช้ยาระบายเองโดยที่ไม่หาสาเหตุ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการของภาวะอุจจาระตกค้างควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด เนื่องจากการซื้อยาระบายมารับประทานเองเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ทำการรักษาได้ยากขึ้น ต้องมีการปรับยา หรือต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายๆ วิธี
การกลั้นอุจจาระและขับถ่ายไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้เกิดภาวะอุจจาระตกค้าง แม้กับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอและใส่ใจสุขภาพ ดังนั้น หากพบว่าการขับถ่ายเปลี่ยนไป หรือมีอาการต่างๆ เช่น ท้องผูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างแม่นยำ และรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป