อันตรายต่อสุขภาพจาก "กัมมันตรังสี" จากระเบิดนิวเคลียร์

อันตรายต่อสุขภาพจาก "กัมมันตรังสี" จากระเบิดนิวเคลียร์

อันตรายต่อสุขภาพจาก "กัมมันตรังสี" จากระเบิดนิวเคลียร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากสถานการณ์ทางฝั่งยุโรปที่มีการต่อสู้ด้วยยุทโธปกรณ์ต่างๆ จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลถึงความหนักหนาสาหัส และระดับของความรุนแรงที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธที่ร้ายกาจมานานนับศตวรรษอย่าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ที่ขึ้นชื่อว่าร้ายแรงที่สุด หากมีอาการใช้ระเบิดนิวเคลียร์จริง ประชากรชาวโลกจะรับมือต่อผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ระเบิดนิวเคลียร์ ร้ายแรงขนาดไหน

ระเบิดนิวเคลียร์มีพลังทำลายล้างสูง หากมีการใช้อย่างจริงจัง อาจส่งผลต่อชีวิตในทันทีหรือในไม่ช้า แต่หากเป็นเพียงบางส่วนที่รั่วไหลออกมา เช่น การรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าผลิตนิวเคลียร์ที่ถูกทำลายไปแล้ว ในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยยังพอตั้งรับกันได้บ้าง โดยเป็นการได้รับผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพมากกว่าพลังระเบิดตรงๆ

อันตรายต่อสุขภาพจาก "กัมมันตรังสี" จากระเบิดนิวเคลียร์

นพ. อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาและรังสีรักษาจากศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ระบุว่า การแผ่รังสีของสารกัมมันตรังสีเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ไม่อาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ โดยอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคุณสมบัติที่สามารถแตกตัวเป็นไอออน (Ionizing Radiation) เมื่อรังสีผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกาย ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเซลล์ถึงในระดับดีเอ็นเอ โดยทำให้โมเลกุลภายในเซลล์ และระบบการทำงานของเซลล์เปลี่ยนแปลงไป

  1. เป็นพิษเฉียบพลัน (acute radiation syndrome) 

ในกรณีที่อยู่ในรัศมีระยะ 30 กิโลเมตรจากจุดระเบิด อาจเสี่ยงได้รับพิษกัมมันตรังสีเข้มข้นแบบเฉียบพลัน มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 50% (หากรอดชีวิต ก็ยังอาจเป็นโรคมะเร็งได้)

สำหรับผู้ที่อยู่ห่างออกไปจากรัศมี 30 กม. จากการระเบิดกัมมันตภาพรังสีจะลดลงไปตามระยะทางที่ห่างออกไป แต่ก็ยังมีพิษแบบเรื้อรังต่อไปได้ โดยยังอาจจะมีอาการแบบเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป เพราะได้รับรังสีในปริมาณไม่มาก แต่สามารถทำลายดีเอ็นเอ ทำให้เกิดจากกลายพันธุ์ของยีนและนำไปสู่โรคมะเร็งได้

ถ้าได้สัมผัสกับสารกัมมันตรังสี ต้องล้างการปนเปื้อนร่างกาย ถอดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวทั้งหมด ใส่ในถุงที่ปลอดภัยปิดสนิท เพื่อการทำลายอย่างถูกต้อง อาบน้ำชำระล้างร่างกายทั้งหมดให้สะอาดด้วยน้ำเย็นและสบู่อ่อน ถ้ามีบาดแผลต้องชำระล้างให้สะอาด และปิดบาดแผลป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสารรังสีอีก

  1. ฝุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

ฝุ่นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีสามารถลอยแผ่กระจายตามกระแสลมในบริเวณกว้าง ปนเปื้อนอยู่ในพืชพรรณ ธัญญาหาร พื้นดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ จึงอาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรารับประทานในอนาคตได้

ผู้ที่บริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อาจมีอาการระคายเคือง อ่อนเพลีย ท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เม็ดเลือดขาวถูกทำลายอย่างรุนแรง ระบบการสร้างโลหิตจากไขกระดูกบกพร่อง มีความต้านทานโรคต่ำ ผิวหนังพุพอง ผมร่วง ปากเปื่อย เสี่ยงโรคมะเร็ง และหากรับประทานเข้าไปมากๆ อาจอันตรายถึงชีวิตได้

สารกัมมันตรังสี มีประโยชน์ทางการแพทย์

พูดถึงสารกัมมันตรังสี อาจจะคิดว่ามีแต่อันตราย แต่จริงๆ ทางการแพทย์มีการนำมาใช้เพื่อรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพอยู่ด้วย โดย นพ. อภิชาต ระบุว่า ปัจจุบันเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้แพทย์สามารถใช้ประโยชน์จากสารกัมมันตรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งได้มากชนิดขึ้น ใช้รังสีรักษามะเร็งได้อย่างตรงจุด แม่นยำและสร้างความเสียหายต่อเซลล์ข้างเคียงน้อยลง อีกทั้งยังสามารถควบคุมความเข้มข้นของรังสีให้เหมาะสมสำหรับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติงานที่มีความปลอดภัยสูงสุด

5 ข้อที่ควรเตรียมถ้ามีแนวโน้มจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ 

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำแนวทางสำหรับการเตรียมตัวเรื่อง "หลุมหลบภัยใต้ดิน" เพื่อป้องกันอันตรายจากระเบิดนิวเคลียร์หากมีการใช้ขึ้นมาจริงๆ ดังนี้

  1. เตรียมหลุมหลบภัยใต้ดิน โอกาสรอดเดียวเมื่อเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น คือ การหลบไปอยู่ในหลุมหลบภัยใต้ดิน ซึ่งควรเตรียมสะสมเสบียงอาหารไว้ด้วย
  2. เตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม ควรเตรียมอาหารแห้งที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูง เช่น พวกข้าว ถั่วทุกชนิด นมผง น้ำผึ้ง ผลไม้และผักอบแห้ง
  3. น้ำดื่ม แหล่งน้ำจืดบนพื้นโลกจะปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี จึงควรกักตุนน้ำจืดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ไว้ที่หลุมหลบภัย ปิดให้สนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสี
  4. อุปกรณ์ช่วยชีวิต ไม่ควรลืมยารักษาโรค ไฟฉาย เทปกาว ถุงดำ มีด ไฟแช็ก และหน้ากากกันแก๊สพิษ
  5. ติดตามข่าวสารต่าง มีอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารแบบง่ายๆ (เช่น วิทยุสื่อสาร แบตเตอรี่สำรอง) ที่ทำให้สามารถติดตามข่าวสารจากทางการได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook