3 เหตุผล ทำไม “คนจมน้ำ” ห้ามโดดลงไปช่วย พร้อมวิธีช่วยคนจมน้ำที่ถูกต้อง

3 เหตุผล ทำไม “คนจมน้ำ” ห้ามโดดลงไปช่วย พร้อมวิธีช่วยคนจมน้ำที่ถูกต้อง

3 เหตุผล ทำไม “คนจมน้ำ” ห้ามโดดลงไปช่วย พร้อมวิธีช่วยคนจมน้ำที่ถูกต้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โค้ชเป้ง-สาธิก ธนะทักษ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย เจ้าของเพจสุขภาพเข้าใจง่ายชื่อ Ez2fit โพสต์แนะนำ “สิ่งสุดท้ายที่ควรทำ หรือไม่ทำเลยจะดีกว่า นั่นก็คือกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำ” พร้อมเหตุผลว่าทำไมเราไม่ควรโดดลงไปช่วยคนที่กำลังจมน้ำ เอาไว้ ดังนี้


สิ่งสุดท้ายที่ควรทำ หรือไม่ทำเลยจะดีกว่า นั่นก็คือกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำ 

ในออสเตรเลียทุกปีมีคนเสียชีวิตราว 5 คน สาเหตุเพราะกระโดดลงไปช่วยคนตกน้ำ ซึ่งนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ขัดกับสามัญสำนึกของเราว่าเมื่อมีคนตกน้ำสิ่งแรกที่ควรทำคือโดดลงไปช่วย แต่การรักษาชีวิตตนเองก่อนเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เนื่องจากถ้าเราไม่มีความรู้ความชำนาญ ร่างกายที่แข็งแรงพอ การกระโดดลงไปช่วยคนจมน้ำก็อาจจะกลายเป็นการเพิ่มผู้เสียชีวิตไปอีกคน 

โดยสาเหตุสำคัญที่เราไม่ควรกระโดดตัวเปล่าๆ ลงไปช่วย มีหลายปัจจัยได้แก่ 

  1. ถ้าคนตกน้ำว่ายน้ำไม่เป็น จะเกิดความกลัว ตะเกียกตะกาย กอดรัดเราจนเอาเราจมไปด้วย (ในคู่มือของกู้ภัยจึงต้องกำหนดระยะปลอดภัย วิธีเข้าหา รวมถึงถ้าจำเป็นอาจจะต้องจัดการให้สงบก่อน) ซึ่งส่วนมากที่ลงไปช่วยแล้วเสียชีวิตก็จะอยู่ในกรณีนี้ 
  2. ถ้าคนตกน้ำแล้วช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ลอยตัวไม่เป็น คนทั่วไปไม่น่าจะมีความแข็งแรงและทักษะพอที่จะสามารถพาคนจมน้ำลอยตัวหรือพาเข้าฝั่งได้ โค้ชเป้งกล่าวถึงช่วงสมัยอยู่มหาวิทยาลัยในวิชาว่ายน้ำก็มีการทดลองให้นักศึกษาทั้งหลายลองช่วยคนจมน้ำ โดยให้เพื่อนอยู่เฉยๆ (ไม่ขัดขืนแต่ก็ไม่ลอยตัวช่วย) ซึ่งในชั้นเรียนมีนักกีฬามากมาย (ที่ไม่ใช่นักกีฬาว่ายน้ำ) ไม่มีใครสามารถพาเพื่อนที่อยู่แค่กลางสระเข้าฝั่งได้เลย 
  3. ความอันตรายของการจมน้ำนั้นมีอีกหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน ต่อให้เรามีทักษะ ร่างกายแข็งแรง ก็ยังจำเป็นที่ต้องประเมินความลึก ความแรงของกระแสน้ำ คลื่น อุณหภูมิ ทัศนวิสัย 

ในกรณีที่จำเป็นต้องลงไปช่วย กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ก็ได้แนะนำว่า ห้ามให้คนตกน้ำสัมผัสคนช่วยเหลือ โดยคนที่ลงไปช่วยควรลงไปต่อเมื่อมีอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วยและใช้อุปกรณ์นั้นโยนให้คนตกน้ำจับ

วิธีช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้อง 

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ก็ได้ให้คำแนะนำว่า การกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้น เป็นวิธีการที่ต้องพึงระวังอย่างมาก และผู้ช่วยเหลือต้องมีประสบการณ์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำด้วยวิธีนี้ ซึ่งคำแนะนำในการให้ความช่วยเหลือมีหลักง่ายๆ 4 วิธี คือ “ยื่น โยน พาย ลาก”

  • ยื่นอุปกรณ์ให้จับไม่ว่าจะไม้ เข็มขัด เสื้อ 
  • โยนสิ่งที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วง/เสื้อชูชีพ
  • พาย ใช้พาหนะลอยน้ำไปรับ
  • ลาก โยนเชือกให้เกาะแล้วดึงเข้ามา 
  • ตะโกน/โทรให้คนช่วย 

ในรายงานสถานการณ์การจมน้ำขององค์การอนามัยโลก มีรายงานว่าทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 372,000 คน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะหน่วยงานรัฐที่จะรณรงค์ สถานศึกษามีการเรียนการสอนการเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ การดูแลของผู้ปกครอง สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำละครภาพยนตร์ และรายการควรให้ความรู้ตรงตามหลักวิชาการ และที่สำคัญก็คือการดูแลตนเอง ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทางน้ำอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ โค้ชเป้ง ขอแสดงความเสียใจแก่ผู้สูญเสียทุกคน และย้ำว่าในโพสต์นี้ประเด็นหลักพูดถึงเรื่องความปลอดภัยในการช่วยเหลือคนตกน้ำในกรณีโดดลงน้ำไปช่วย ส่วนเรื่องคนบนเรือในเหตุการณ์คุณแตงโมเสียชีวิตได้กระทำการสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่ ทำไมไม่โยนชูชีพไปช่วย ทำไมไม่ใส่ชูชีพแล้วกระโดดตามลงไป โค้ชเป้งขอไม่กล่าวถึงเพราะผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้สัมภาษณ์แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน สรุปว่ารู้หรือไม่รู้ว่าตกน้ำ เรือขับเร็วขับช้าฯ คงต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

เจตนารมณ์ที่เขียนบทความนี้เพราะกังวลว่าจะกลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าคนตกน้ำ ควรกระโดดลงไปช่วย หรือ ถ้ามีคนตกน้ำแล้วไม่กระโดดลงไปช่วย(ในกรณีไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว) คนที่อยู่บนฝั่งจะเป็นคนผิด จะต้องมีความรู้สึกผิดติดตัวตลอดไป

หลังโค้ชเป้งโพสต์ลงในเพจ คุณหนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรรายการข่าวโหนกระแส ได้เข้ามาขอโทษกับคำพูดในรายการที่พูดถึงการกระโดดลงไปในน้ำเพื่อช่วยเหลือคุณแตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ และพร้อมนำไปปรับปรุงใช้ในการดำเนินรายการต่อไปเรียบร้อยแล้ว

nhumpost 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook